xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมจุดพลุ PPP โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า, ไฮสปีด, ทางด่วนกระทู้-ป่าตอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
คมนาคมจัดทัพโครงการใหญ่ บรรจุยุทธศาสตร์ PPP ทั้ง รถไฟฟ้า, ไฮสปีดเทรน, ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง, ท่าเรือปากบารา, สงขลา, คลองใหญ่ พร้อมเร่ง ร.ฟ.ท.สรุปแผนลงทุนสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ชี้เอกชนร่วมทุนช่วยลดภาระภาครัฐ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ใช้เงินกู้ลงทุน ชง ครม.อนุมัติประมูลในปีนี้

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (24 มี.ค.) ได้ประชุมร่วมกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พ.ศ. 2558-2562 โดยนำโครงการลงทุนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยจัดเข้ากลุ่มแผนงาน หรือจัดทำ Project Pipeline และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ซึ่งจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ได้แบ่งกิจการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-out) ซึ่งหมายถึงต้องเป็นการร่วมทุนกับเอกชน ประกอบด้วย 1. กิจการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย เป็นต้น ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง นั้นเนื่องจากยังไม่เคยมีการศึกษารูปแบบการลงทุนจึงให้ ร.ฟ.ท.เร่งดำเนินการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและข้อดี ข้อเสีย โดยมอบหมายให้ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ติดตามความคืบหน้า หากได้ความชัดเจนจะได้นำมาบรรจุในแผนงาน

2. กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง หรือระบบทางพิเศษ เช่น โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.9 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 8.37 พันล้านบาท

3. กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า เช่น โครงการท่าเรือปากบารา ท่าเรือสงขลา ท่าเรือชุมพร ท่าเรือคลองใหญ่ และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นต้น 4. กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) จำนวน 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นต้น

กลุ่มกิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุน (Opt-in) ประกอบด้วย 1. กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่อยู่ในแผนแม่บทของกรมทางหลวง (ทล.) ยกเว้นสาย บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 84,600 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 55,620 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการแล้ว โดยใช้เงินกู้มาลงทุนโครงการ ส่วนสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32.10 กิโลเมตร มูลค่า 20,200 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์มาเป็นค่าก่อสร้าง

2. กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า (ICD) 3. กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 4. กิจการพัฒนาท่าอากาศยาน และ 5. กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน

“โครงการที่นำมาบรรจุในแผน PPP เป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง การให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระของภาครัฐ และทำให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจต่อแผนงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตามขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้น ตามกฎหมายจะต้องบรรจุแผนงานและรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะกรรมการ PPP ดังนั้นทุกกระทรวงที่มีโครงการลงทุนจะต้องเสนอแผนงานเข้ามาเพื่อให้ สคร.จัดหมวดหมู่” ปลัดคมนาคมกล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมนั้น ขณะนี้ได้ทยอยเสนอไปที่ ครม.แล้ว เช่น มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี โดยรอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 56,000 ล้านบาท สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,000 ล้านบาท สายสีส้ม ช่วงพระราม 9-มีนบุรี วงเงิน 106,655.76 ล้านบาท รวมทั้งรถไฟทางคู่ เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งนำ เสนอ ครม.ภายในวันที่ 15 เมษายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น