xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าจัดหน่วยเคลื่อนที่ขึ้นทะเบียนคน-เรือ ช่วยแก้วิกฤตประมงไทยผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) พร้อมผู้บริหารแถลงความคืบหน้าการแก้ปัยหาเรือประมงผิดกฎหมาย
กรมเจ้าท่าจัดหน่วยเคลื่อนที่รับจดทะเบียนเรือและออกประกาศนียบัตรคนประจำเรือแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เผย 2 วันมีเกือบ 2,000 ราย คาดถึง 15 ก.ค. รวม 22 จังหวัดจะมีถึง 6,000 ราย พร้อมชง “คมนาคม” เตรียมออกประกาศแก้เงื่อนไข หวังดึงซูเปอร์ยอชต์เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจบนฝั่ง เผยงบปี 59 เกือบ 6 พันล้าน เน้นขุดลอก และพัฒนาท่าเรือ

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมเจ้าท่านั้นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยแก้ปัญหาใน 2 ส่วนหลักๆ คือ เกี่ยวกับเรือประมง เรื่องทะเบียนเรือ,ใบอนุญาตใช้เรือ และเกี่ยวกับคนประจำเรือและแรงงานในเรือประมง เรื่องการออกประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ และช่างเครื่องประจำเรือ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนอยู่ในกฎเหล็ก 15 ข้อที่ต้องมี โดยกรมเจ้าท่ามีนโยบายในการจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกไปยังพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีการทำประมง เพื่อดำเนินการจดทะเบียนเรือ ต่อทะเบียนเรือ และออกประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ และช่างเครื่องประจำเรือ ให้แก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค. โดยเมื่อวันที่ 6-7 ก.ค.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจดทะเบียนเรือและต่อทะเบียนเรือรวม 145 ลำ ออกประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ 945 ราย ประกาศนียบัตรช่างเครื่อง 802 ราย รวม 1,747 ราย โดยคาดว่าจนถึงวันที่ 15 ก.ค.จะสามารถออกประกาศนียบัตรได้ถึง 6,000 ราย

ทั้งนี้ เรือประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือ และใบอนุญาตใช้เรือ จะไม่สามารถขอใบอาชญาบัตรทำประมงได้ ดังนั้นเรื่องทะเบียนเรือจึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่การจะออกทำการประมงได้ต้องมีใบอนุญาตเรื่องคนประจำเรือด้วย กรณีเป็นคนต่างด้าว จะต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง ดังนั้นอย่างน้อยต้องครบทั้ง 4 ใบ ซึ่งเรือส่วนใหญ่ ในขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังพิจารณาเพื่อออกกฎข้อบังคับการตรวจเรือฉบับใหม่ โดยจะแยกข้อกำหนดเรือประมงออกจากเรือขนส่งสินค้าซึ่งเป็นเรือเดินข้ามประเทศ ที่มีข้อกำหนดเคร่งครัดกว่า ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ

โดยสถิติเรือประมงในระบบทะเบียนเรือ ณ วันที่ 19 พ.ค. 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,468 ลำ โดยมีเรือประมงที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2553-2557 จำนวน 26,855 ลำ ก่อนหน้าปี 2553 มีเรือจดทะเบียน 19,872 ลำ

***เตรียมออกประกาศแก้เงื่อนไขดึงซูเปอร์ยอชต์เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย

นายจุฬากล่าวว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้เสนอร่างประกาศกระทรวงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อออกประกาศกระทรวงคมนาคม ในการอนุญาตให้เรือสำราญขนาดใหญ่ (ซูเปอร์ยอชต์) ความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใหม่ จากเดิมที่ต้องเป็นคนไทยและเรือที่ชักธงไทยเท่านั้นจึงจะทำการค้าได้ และหากเรือซูเปอร์ยอชต์ที่เป็นบุคคลต่างชาติจะต้องขออนุญาตมีกำหนดทำการค้าในน่านน้ำไทยไม่เกิน 180 วัน โดยคาดว่าจะประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ได้ในเดือน ก.ค.นี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนทันกับโครงการมหกรรมเรือสำราญและมารีนาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10-15 ธ.ค. 2558 นี้

“กรมฯ มองว่าการดึงเรือซูเปอร์ยอชต์ที่จอดแถบแคริบเบียน ยุโรป มาจอดที่เอเชียแปซิฟิก จะต้องมีทั้งความชัดเจนทั้งข้อกฎหมายการมาอยู่ได้นานขึ้นเป็น 1 ปี มีจุดจอด มีแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เจ้าของเรือมั่นใจว่าจะเข้ามาทำการค้าได้ โดยภูเก็ตเป็นจุดที่เหมาะสม ซูเปอร์ยอชต์จะเป็นตัวเรียกแขกให้ธุรกิจต่อเนื่องในประเทศเติบโตตามไป เช่น ที่จอดเรือหรือมารีนา ธุรกิจด้านบริการต่างๆ และธุรกิจด้านอาหาร จะเกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมาก” นายจุฬากล่าว

***เผยงบปี 59 เกือบ 6 พันล้าน เน้นขุดลอก และพัฒนาท่าเรือ
นายจุฬากล่าวว่า ในปี 2559 กรมเจ้าท่าได้เสนองบประมาณ 5,598.81 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่ได้รับงบประมาณ 4,742.13 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งแผนงานในปี 2559 ประกอบด้วย 1. แผนงานฟื้นฟูป้องกันและจัดการภัยพิบัติ วงเงิน 163.54 ล้านบาท จะเป็นงานขุดลอกและป้องกันตลิ่ง 2. แผนงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วงเงิน 174.98 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ท่าเรือสงขลา

3. แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 105.62 ล้านบาท เป็นงานขุดลอกเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคอีสาน ประมาณ 20 แห่ง 4. แผนงานจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ วงเงิน 11.45 ล้านบาท 5. แผนงานพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ วงเงิน 1,054.14 ล้านบาท งบศึกษา EHIA ท่าเรือปากบารา งบศึกษาเขื่อนยกระดับ เป็นต้น 6. แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบลอจิสติกส์ วงเงิน 4,089.08 ล้านบาท จะเป็นการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างท่าเรือโดยสาร ร่องน้ำ ทำเขื่อนต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น