ปตท.เผยมีสัญญาณบริษัท E&P หลายรายเริ่มไปไม่ไหว หลังราคาน้ำมันดิ่งต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐมานานเป็นปี หากทิศทางราคาน้ำมันยังต่ำเช่นนี้ต่อไปคาดว่าจะเห็นดีลการซื้อกิจการแหล่งผลิตปิโตรเลียมได้ในปีหน้าเพื่อเสริมความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน ยันกลุ่ม ปตท.มีกระแสเงินสดเพียบ 2 หมื่นล้าน และสามารถกู้เงินได้อีกเพียงพอที่จะซื้อกิจการได้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่าบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลายแห่งเริ่มหยุดผลิต หลังจากราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐมาเป็นระยะเวลาปีกว่า และการพัฒนาหลุมปิโตรเลียมใหม่ก็ชะลอออกไปทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่กลุ่ม ปตท.จะเข้าไปซื้อกิจการในแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานในประเทศได้ หากราคาน้ำมันดิบต่ำเช่นนี้คาดว่าจะเห็นดีลการซื้อกิจการ (M&A) ในปีหน้า
โดยการเข้าซื้อกิจการนั้น ปตท.จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานด้วย รวมทั้งจะต้องมีการจำลองเหตุการณ์หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ธุรกิจที่ซื้อจะต้องอยู่ได้ (Stress Test) เพื่อความมั่นใจว่าบริษัทที่เข้าไปซื้อกิจการนี้จะต้องสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ภายใต้ราคาน้ำมันต่ำเช่นนี้อย่างน้อย 3 ปี หลังจากกลุ่ม ปตท.มีประสบการณ์ จากกรณี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มีประสบการณ์จากการเข้าไปลงทุนถือหุ้น 40% ในโครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ที่แคนาดาเมื่อปี 2553 ซึ่งในช่วงนั้นราคาน้ำมันดิบโลกสูงทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เมื่อเทียบราคาน้ำมันดิบในขณะนี้อยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้อยู่ได้ยาก เพราะต้นทุนการผลิตโครงการนี้อยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งโชคดีที่ ปตท.สผ.ได้มีการสวอปแหล่งปิโตรเลียมในโครงการนี้ โดยถือหุ้น 100% ในแปลงที่ยังไม่มีการผลิต ได้แก่แหล่ง Thornbury, Hangingstone และ South Leismer ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากจากราคาน้ำมันตกต่ำ
ส่วนธุรกิจใหม่นั้น กลุ่ม ปตท.สนใจที่จะเข้าไปลงทุนแหล่งผลิต Shale Gas/Shale Oil โดยอยู่ระหว่างการศึกษาสนใจเข้าไปร่วมในโครงการนี้แถบอเมริกาเหนือผ่าน ปตท.สผ. รวมทั้งทำโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ ผ่านบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล มูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย เนื่องจากเห็นว่า Shale Gas/Shale Oil จะเป็นปิโตรเลียมที่มีความสำคัญของโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำแข่งขันได้
ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีเงินสดในมือรวม 2 แสนล้านบาท มาจากธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมี ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ด้วย เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในเครือ ปตท.ได้มีการทบทวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยชะลอการลงทุนในโครงการที่ยังไม่จำเป็น รวมทั้งอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ทำให้มีความสามารถในการกู้เงินและออกหุ้นกู้อีกมาก หากมีการซื้อกิจการที่ใช้เงินลงทุนสูงได้
“แผนการหาโอกาสในการซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างแรงเมื่อปี 2557 กลุ่ม ปตท.ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรลียม (E&P) ยังมีสายป่านเยอะอยู่ แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็นเวลานาน และการผลิตน้ำมันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ราคาสูงเริ่มหมดลง ทำให้บริษัท E&P หลายแห่งเริ่มหยุดผลิต เพราะไม่คุ้มต้นทุนการผลิต จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสายป่านของบริษัท E&P เริ่มสั้นลงแล้ว”
อีกทั้งมีการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันจะต่ำเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยปี 2559 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากครึ่งปีแรกนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 57เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า โครงการโรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวัน ที่โมซัมบิก คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการได้ในปี 2559 โดยก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) บางส่วนจะป้อนขายให้แก่ ปตท. นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้ามูลค่า 3 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันด้วย
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) กล่าวว่า บริษัทฯ มีกระแสเงินสดในมืออยู่ 4 หมื่นล้านบาทซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงกึ่งหนึ่ง ทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนลดลงครึ่งหนึ่ง และค่าการกลั่นครึ่งปีหลังสูงถึง 10-11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะนำเงินไปชำระคืนหนี้เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ 9 พันล้านบาท รวมทั้งใช้เงินในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นด้วย ดังนั้น หากไทยออยล์จะมีการลงทุนเพิ่มเติมก็สามารถที่จะหาเงินกู้ได้ เนื่องจากมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ (D/E) อยู่ที่ 0.3 เท่า สามารถกู้ได้ถึง 7 หมื่นล้านบาท