ปตท.สผ.ลั่นปีหน้าลงทุนพัฒนา 2 โครงการใหม่ ทั้งแหล่งอุบล-โครงการโมซัมบิก คาดว่าจะผลิตน้ำมันดิบ 3 หมื่นบาร์เรล/วันในแหล่งอุบลได้ปี 61 ส่วนโครงการอื่นๆ ต้องเลื่อน FID ไปก่อน เผยหากราคาน้ำมัน 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปตท.สผ.ก็ยังผลิตได้ เหตุต้นทุนเงินสดต่อหน่วยต่ำเพียง 16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า บริษัทได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายการลงทุน (FID) 2 โครงการในปีหน้า คือ โครงการแหล่งอุบล และโครงการโรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวัน ที่โมซัมบิก ส่วนโครงการใหม่อื่นๆ ได้ตัดสินใจเลื่อนการทำ FID ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกจะมีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ โครงการออยล์แซนด์ ที่แคนาคา โครงการ Cash Maple ที่ออสเตรเลีย และโครงการฮาสสิ เบอร์ ราเกซ ที่แอลจีเรีย
โดยปีหน้าบริษัทฯ มีแผนลงทุนพัฒนาโครงการแหล่งอุบล คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 3 หมื่นบาร์เรล/วันในปี 2562 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2561
สำหรับโครงการโรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวันนั้น ขณะนี้ได้มีการเจรจาผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ผลิตได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้สามารถที่จะเริ่มพัฒนาโครงการ อีกทั้งปริมาณสำรองก๊าซฯ ในแหล่งดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 42 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดย ปตท.ได้ลงนามบันทึกช่วยจำในการซื้อ LNG จากโครงการดังกล่าว 2.6 ล้านตัน/ปี โดยจะรับก๊าซฯ ในปี 2563
ส่วนโครงการออยล์แซนด์ที่แคนาดานั้นถือเป็นโครงการที่มีต้นทุนการผลิตสูงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในปัจจุบัน จำเป็นต้องหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ โดยเปิดกว้างหาพันธมิตรร่วมทุน หรือพร้อมที่จะขายแหล่งดังกล่าวออกไป ส่วนโครงการ Cash Maple ที่ออสเตรเลีย อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเชื่อมต่อท่อก๊าซฯ กับแหล่งอื่นที่มีอยู่ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น ในปี 2559 ปตท.สผ.คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงปีนี้ โดยมีกระแสเงินสดในปี 2558 อยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแสวงหาโอกาสในการซื้อกิจการเพิ่มเติมและลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต
นางสาวเพ็ญจันทร์กล่าวว่า ในครึ่งหลังปี 2558 บริษัทฯ คาดว่ายอดขายปิโตรเลียมจะไม่ต่ำกว่า 3.26 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยโครงการแอลจีเรีย 433 เอและ 41 บี กำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปลายปีนี้ โดยปีนี้บริษัทยังคงเป้ารักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ไม่ต่ำกว่า 69-70% โดยบริษัทได้มีการลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายการบริหารต่างๆ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง
ขณะเดียวกัน ในปีนี้บริษัทได้มีการทำประกันความเสี่ยงน้ำมัน 70% ของปริมาณการขาย โดยทำประกันความเสี่ยงแบบช่วงราคาที่กำหนดต่ำสุดไว้ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ดังนั้น หากราคาน้ำมันต่ำกว่าระดับดังกล่าวบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบและอาจจะมีกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงด้วย
ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงเหลือ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ถือเป็นระดับราคาน้ำมันดิบที่ต่ำมากจนผู้ผลิตไม่สามารถอยู่ได้ แต่ในส่วนของ ปตท.สผ.นั้นยังสามารถดำเนินการผลิตได้ แม้ว่าต้นทุนต่อหน่วยจะอยู่ที่ 41.08 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เป็นต้นทุนของค่าเสื่อมราคาที่มีการลงทุนไปล่วงหน้าแล้วถึง 24.62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คงเหลือต้นทุนเงินสดต่อหน่วยที่ต้องจ่ายจริงแค่ 16.46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากนี้ บริษัทไม่มีความกังวลว่าต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐเกือบ 100% เนื่องจากมีเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในสัดส่วนมากถึง 70-80% ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 4%
นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในครึ่งหลังปีนี้คงไม่เกิน 54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ราคาน้ำมันดิบคงไม่เกิน 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันมากกว่าความต้องการใช้
ดังนั้น บริษัทคาดว่าในปีนี้กำไรจากการดำเนินงานจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน
ทั้งนี้ ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาแผนการนำธุรกิจค้าปลีกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะต้องพิจารณาผลกระทบ ข้อกฎหมาย และผู้มีส่วนได้เสีย คาดว่าจะได้เห็นภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีกำไรไม่ถึง 10% ของกำไรรวม ปตท.