xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เตรียมชง คจร.เห็นชอบ MOU โอนเดินรถสีเขียว 2 สายให้ กทม. เล็งทยอยเปิดเป็นช่วงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” สรุปร่างบันทึกข้อตกลงโอนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้ กทม. เตรียมชง คจร.เห็นชอบภายใน ก.ย.นี้ ด้าน รฟม.ระบุรับผิดชอบงานก่อสร้างและภาระหนี้ต่อไปจนกว่าจะก่อสร้างเสร็จเพื่อไม่ให้มีปัญหา ด้าน กทม.เล็งทยอยเปิดเดินรถเป็นช่วงๆ ต่อจากสีเขียวเดิมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการถ่ายโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วานนี้ (7 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และกรมบัญชีกลาง ได้ข้อสรุปร่วมกันในการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการจัดระบบจราจรเรื่องการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สายทาง โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเสนอร่างฯ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบ ส่วน กทม.จะเสนอผู้บริหารพิจารณา และคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาได้ในเดือน ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

ซึ่งหลักการโอนงานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สายทางนั้น รฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธาต่อไปตามแบบและสัญญาก่อสร้างที่ผูกพันกับผู้รับเหมาจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยหาก กทม.จะมีการปรับปรุงงานใดๆ รฟม.จะเป็นผู้วินิจฉัยในฐานะเจ้าของสัญญาก่อสร้าง ขณะที่ กทม.จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในระหว่างก่อสร้างในฐานะเจ้าของพื้นที่ก่อสร้างเพื่อไม่ให้งานก่อสร้างมีความล่าช้า นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการจัดระบบการเดินรถไฟฟ้าทั้งสองสายทางให้เร็วที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเดินรถในบางส่วนที่งานก่อสร้างและวางระบบแล้วเสร็จก่อน เช่น ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้งานโยธามีความคืบหน้ากว่า 60% แล้ว อาจเปิดเดินรถต่อเนื่องเป็นช่วงๆ จากสถานีแบริ่งต่อไปยังสถานีสำโรงและสถานีปู่เจ้าสมิงพรายก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับการส่งมอบงานโยธา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการขึ้น 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สิน ทรัพย์สิน ขั้นตอนทางการเงินที่จะชำระหนี้และงบประมาณ เนื่องจากจะต้องมีการเจรจาเพื่อชำระหนี้ระหว่างกันในแต่ละหน่วยงาน เช่น ระหว่าง รฟม.กับกทม. ระหว่าง กทม.กับ สบพ. และระหว่าง กทม.กับสำนักงบประมาณ 2. คณะกรรมการประสานงานด้านเทคนิคและการเดินรถ เพื่อให้ กทม.ดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงคมนาคม รฟม. กทม. สนข. และ สจส. และ 3. คณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการเดินรถภายใต้ความร่วมมือฯ ซึ่งจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามแผน

“ในระหว่างนี้ รฟม.จะรับผิดชอบการก่อสร้างและภาระหนี้สินต่อไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ส่วนการชำระคืนนั้นจะต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินฯ พิจารณา หลักการของร่างบันทึกข้อตกลงนี้คือ ต้องการให้เปิดเดินรถได้เร็วเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ รฟม.จะส่งมอบผลการศึกษารูปแบบการร่วมทุนในการจัดหาผู้เดินรถ ตามผลศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public-Private Partnership) หรือ PPP และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ กทม. เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน ตามข้อตกลงในความร่วมมือฯ อีกด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น