“ประจิน” ยืดเวลาเจรจา กทม.รับโอนเดินรถสายสีเขียวใต้และสีเขียวเหนือภายใน ส.ค.นี้ ยืนยัน กทม.ต้องรับหนี้สินค่าก่อสร้างแทน รฟม. เชื่อได้ข้อสรุปเหตุเจรจาพ่วงสีเขียวเหนือทำให้ กทม.บริหารเดินรถมีความคุ้มทุนมากขึ้น
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนัดหมายทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 13 กม. ซึ่งก่อนหน้านี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้รับโอนการเดินรถแต่ยังไม่มีข้อสรุป โดยครั้งนี้ต้องการเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อรายงานผลต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในการประชุมครั้งต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า พร้อมกันนี้จะหารือถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กม. ซึ่งมีเรื่องแนวเส้นทางนั้นเกี่ยวข้องกับมวลชน จึงต้องให้ทาง กทม.มารับทราบข้อมูล และช่วยในเรื่องการดูแลมวลชนด้วย นอกจากนี้จะหารือถึงการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอเพื่อพิจารณาตามมติคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รวมทุนฯ 35) ที่ให้เจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL
ทั้งนี้ ในส่วนของการโอนงานเดินรถสายสีเขียวใต้นั้น ต้องการให้ กทม.สรุปความชัดเจนในกรณีการรับหนี้สินที่ รฟม.ได้ลงทุนก่อสร้างค่างานโยธาไปแล้วด้วยทันที ในขณะที่ กทม.เสนอขอผ่อนชำระและขอให้รัฐช่วยสนับสนุน กทม.เหมือนที่สนับสนุน รฟม. โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันด้วยนั้น ทาง กทม.จะต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังให้ได้ความชัดเจน รวมถึงกรณีที่ กทม.ต้องเดินรถไฟฟ้าออกนอกเขตพื้นที่ กทม.นั้นจะต้องไปหารือกับทางจังหวัดสมุทรปราการว่ามีคำตอบหรือคำยืนยันจากท้องถิ่นที่ชัดเจนอย่างไร
ส่วนกรณีที่ กทม.เสนอขอรับโอนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ไปด้วยนั้น เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้นำหารือในที่ประชุม คจร.แล้ว และได้มีมติให้ รมว.คมนาคมพิจารณาความเหมาะสมได้ ดังนั้นในการหารือครั้งต่อไป หาก กทม.มีความชัดเจนและข้อเสนอที่มีความเหมาะสม สามารถยอมรับได้ ก็เชื่อว่าจะเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันได้ โดยเห็นว่าการที่ กทม.ขอรับงานเดินรถสายสีเขียวเหนือไปด้วยนั้นเพื่อจะสามารถบริหารและวางแผนการเดินรถได้คุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งการเจรจาเดินรถทั้ง 2 ส่วนถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ก่อนหน้านี้ขั้นตอนการดำเนินงานของ 2 ส่วน ไม่พร้อมกัน กระทรวงคมนาคมจึงเจรจาในส่วนของการเดินรถสายสีเขียวใต้ก่อน
“ทางกระทรวงคมนาคมยังคงยึดหลักการที่ต้องการให้ กทม.รับภาระค่าลงทุนสายสีเขียวใต้ไปทันที ซึ่งการเจรจาเดินรถสายสีเขียวเหนือจะใช้หลักการเดียวกันกับสีเขียวใต้ ส่วนเงื่อนไขจะยืดหยุ่นแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับเหตุผลในการเจรจาซึ่งยังบอกตอนนี้ไม่ได้ ต้องดูข้อเสนอของ กทม.อีกครั้ง โดยเป้าหมายจะเร่งสรุปผลการพิจารณาการเดินรถสายสีเขียวเหนือและใต้ภายใน 2 เดือน หรือในเดือน ส.ค. 2558 นี้ได้แน่นอน และจะสามารถเสนอต่อที่ประชุม คจร.ในครั้งต่อไปได้ การเจรจาเดินรถสายสีเขียวใต้และสีเขียวเหนือพร้อมกันไปด้วยหวังว่าจะทำให้การเจรจาได้ข้อยุติ เพราะทางคมนาคมมีข้อมูลในใจอยู่แล้ว และการที่ คจร.มอบอำนาจให้ รมว.คมนาคมพิจารณาในส่วนของเดินรถสีเขียวเหนือไปด้วยได้ ทำให้การเจรจามีความคล่องตัวมากกว่าเดิม” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
สำหรับสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) มีวงเงินลงทุนที่ กทม.ต้องจ่ายคืนให้ รฟม. จำนวน 17,092.21 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 16,488.60 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษางานโยธา 603.61 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ยังคงเป้าหมายแผนการเปิดเดินรถในปี 2563 ส่วนสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงินค่าก่อสร้าง 28,786 ล้านบาท