“พาณิชย์” นำภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบการคัดแยกข้าวเกรดซี ข้าวเสีย ที่คลังสินค้านครปฐม พร้อมดึง TDRI และ สวทช.ร่วมประเมินผล ก่อนชง นบข.พิจารณาจะใช้วิธีขายยกคลังหรือแยกขาย ป้องกันถูกกล่าวหาทำรัฐเสียประโยชน์ แย้มขายยกคลังน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ช่วยประหยัดเวลา ลดค่าจัดเก็บ ค่าใช้จ่ายไม่พุ่ง
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ก.ย.) กรมฯ ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การคัดแยกข้าวเกรดซี และข้าวเสีย ที่คลังสินค้าอรุณศิลป์ หลัง 2 ปริมาณ 25,000 ตัน และคลังมหาทรัพย์ฟีด รวม 6 หลัง ปริมาณ 80,000 ตัน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงความคุ้มค่าทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไปในการคัดแยกข้าว ก่อนที่จะประมวลข้อดีข้อเสียเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาในวันที่ 9 ก.ย. 2558 นี้
“ทั้ง 2 คลังที่มาดูในครั้งนี้แตกต่างจากคลังสมศักดิ์สามวาที่ได้ไปดูการคัดแยกก่อนหน้านี้ เพราะเป็นคลังที่มีหลายหลัง เก็บข้าวไว้ในปริมาณมาก และกองวางเต็มพื้นที่ ซึ่งกรมฯ จะร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระ นำผลการทดสอบจากการลงพื้นที่ทั้งหมดมาศึกษาและคำนวณความคุ้มค่าในมิติทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อที่จะสรุปให้ นบข.พิจารณาต่อไป”
นางดวงพรกล่าวว่า ในการแยกคุณภาพข้าวในแต่ละกองเป็นรายกระสอบมีต้นทุนในการคัดแยกจากค่าแรงกระสอบละ 12 บาท ค่าเซอร์เวเยอร์ในการตรวจคุณภาพข้าววันละ 12,000 บาท ต่อ 1 สาย ทำให้การคัดแยกมีต้นทุนตกอยู่ที่กระสอบละ 16 บาท ยังไม่รวมค่าดำเนินการอื่นๆ และหากต้องดำเนินการคัดแยกจะใช้เวลาในการคัดแยกเป็นเดือนหรือกว่าจะหมดทุกโกดังต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ที่ต้องมาตรวจสอบและทดลองการคัดแยกเพราะมีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการระบายแบบยกคลังจะทำให้รัฐเสียหาย จึงต้องมาทำให้เห็นว่าการขายแบบไหนจะคุ้มค่ากว่าและรัฐได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการระบายข้าวเกรดซี และข้าวเสีย ปริมาณ 5.89 ล้านตัน ซึ่งแยกเป็นข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน และข้าวเสีย 1.29 ล้านตัน ไว้ 2 แนวทาง คือ ขายแบบยกคลัง หรือแยกขาย ซึ่งทั้ง 2 วิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน คือ ถ้าขายแบบยกคลังจะทำให้ขายข้าวได้ราคาถูกกว่าปกติ แต่สามารถระบายได้หมดในทีเดียว ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายและลดค่าจัดเก็บ แต่ถ้าคัดแยกก่อนแล้วขายจะขายได้ราคาดีขึ้น แต่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการคัดแยก ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่า
นางดวงพรกล่าวว่า สำหรับผลการตรวจสอบการคัดแยกข้าวเกรดซีและข้าวเสียในสต๊อกของรัฐที่คลังสินค้ากลางสมศักดิ์สามวา หลังที่ 2 ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ พบว่าทีมเซอร์เวเยอร์และกรรมกรสามารถคัดแยกข้าวได้เฉลี่ยวันละ 1,000 กระสอบ จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณวันละ 3,000 กระสอบ เนื่องจากพบปัญหาข้อจำกัดและความยากลำบากในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก เช่น ปัญหากรรมกรไม่เพียงพอต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาต่างๆ ทำให้งานล่าช้า ปัญหากระสอบข้าวแตก ปัญหาแสงสว่างภายในคลังไม่เพียงพอ ซึ่งกรมฯ ได้รายงานผลการทดสอบเบื้องต้นต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแล้ว
สำหรับการคัดแยกข้าว กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญ 25 หน่วยงาน จากคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานวิชาการอิสระ และหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องข้าว เช่น TDRI สวทช. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยมีบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือเซอร์เวเยอร์กลางที่มีมาตรฐานเข้าดำเนินการตรวจสอบคัดแยก