xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” นำ 25 หน่วยงานดูการคัดแยกข้าวเกรดซี ข้าวเสีย ก่อนชง นบข.เคาะขายแบบแยก หรือยกโกดัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” นำ 25 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ลงพื้นที่โกดังเก็บข้าวเกรดซีและข้าวเสีย ดูการคัดแยกข้าวก่อนนำเสนอ นบข.พิจารณาจะขายแบบคัดแยกข้าว หรือขายแบบยกโกดัง เผยการคัดแยกมีค่าใช้จ่ายสูงถึงกระสอบละ 16 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบคลังข้าวเกรดซีและข้าวเสียเป็นฝุ่นผง ที่คลังสินค้ากลางสมศักดิ์ คลองสามวา ว่ากรมฯ ได้เชิญ 25 หน่วยงาน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานวิชาการอิสระ และหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องข้าว เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์การคัดแยกข้าวเกรดซีและข้าวเสียในสต๊อกรัฐ โดยมีบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือเซอร์เวเยอร์กลางที่มีมาตรฐานเป็นผู้ดำเนินการ

สาเหตุที่คัดเลือกคลังสินค้ากลางสมศักดิ์สามวา หลัง 2 ที่มีข้าวปริมาณ 8,900 ตัน หรือ 8.9 หมื่นกระสอบ ตามโครงการรับจำนำข้าวเลือกนาปรัง ปี 2555 เป็นคลังตัวอย่าง ในการดำเนินการคัดแยกข้าวก่อนเปิดประมูล ก็เพื่อทำการเปรียบเทียบถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการ เช่น ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการคัดแยกข้าว การจัดระบบบริหารการระบาย และการควบคุมการรั่วไหลของข้าว รวมไปถึงข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าควรจะแยกข้าวก่อนขายหรือว่าควรจะขายแบบยกคลัง

“ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการระบายแบบยกคลัง และการคัดแยกข้าวก่อนนำมาประมูลว่าแนวทางใดจะมีความเหมาะสมและก่อประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ จึงต้องมาหาคำตอบให้ได้ก่อนที่จะดำเนินการระบายข้าวต่อไป”

นางดวงพรกล่าวว่า การแยกคุณภาพข้าวในแต่ละกองเป็นรายกระสอบ พบว่ามีต้นทุนในการคัดแยก จากค่าแรง กระสอบละ 12 บาท และค่าเซอร์เวย์เยอร์ในการตรวจคุณภาพข้าว วันละ 1.2 หมื่นบาทต่อ 1 สาย ทำให้การคัดแยกมีต้นทุนตกอยู่ที่กระสอบละ 16 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าดำเนินการอื่นๆ รวมถึงการจัดส่ง คาดว่าอาจจะไม่คุ้มค่ากับการคัดแยกข้าวที่ยังมีคุณภาพดี ออกจากข้าวเสีย และยังต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้าว 2 หมื่นกระสอบ เป็นระยะเวลา 6-8 วัน

“ในการตรวจแยกคุณภาพข้าวในลักษณะดังกล่าว มีปัญหาเรื่องของจำนวนแรงงานที่จะขนข้าว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าว ตลอดจน สภาพอากาศ และแสงสว่าง รวมถึงพื้นที่ของแต่ละโกดัง ตลอดจนงบประมาณของทางรัฐที่จะเข้ามาจัดการในการคัดแยก ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำได้ไม่ทุกคลัง”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะลองดำเนินการให้ครบตัวอย่าง 1 กอง หรือประมาณ 1.42 หมื่นกระสอบ ดูก่อนว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าใด และต้องใช้เวลาโดยรวมเท่าใด ส่วนการเปิดประมูลแบบยกคลัง รัฐไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งถือเป็นข้อดี

นางดวงพรกล่าวว่า กรมฯ จะนำเสนอผลการศึกษาต่ออนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณา ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เพื่อให้ได้วิธีระบายที่มีความคุ้มค่า และรอบคอบมากที่สุด

ปัจจุบันรัฐบาลมีข้าวที่จะระบายสู่ภาคอุตสาหกรรม 5.89 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน และข้าวเสียเป็นฝุ่นผง 1.29 ล้านตัน และข้าวที่ระหว่างดำเนินคดีอีก 7 หมื่นตัน

























กำลังโหลดความคิดเห็น