ส.อ.ท.แนะรัฐปฏิรูปเศรษฐกิจไทยลดพึ่งพิงการส่งออกจาก 70% ของGDP เหลือ 50% เร่งรัฐลงทุน ดูแลท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือนให้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ตั้งความหวัง “สมคิด” ทยอยคลอดมาตรการดูแลพลิกเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2559
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการส่งออกคิดเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นไทยต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้นทั้งการลงทุนจากภาครัฐ และเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน เพื่อลดสัดส่วนการส่งออกให้เหลือ 50% ของ GDP เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะยาวให้มีความมั่นคงมากขึ้น
“เวลานี้ฐานะการเงินเราดีมาก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 1.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะเหลือไม่ถึง 40% ของ GDP เปรียบประเทศเป็นบริษัทตอนนี้เรายังมีเงินแต่ขายของไม่ได้เราต้องเลี้ยงพนักงานไว้พอเศรษฐกิจมาก็จะไปได้เองแต่ไม่ใช่ไปเรียกเก็บภาษีนั่นนี่ยิ่งเลวร้ายไปใหญ่ นั่นคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจข้างในขับเคลื่อน เพราะเวลานี้คือสินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้เกษตรกรลดลงมาก คนกลุ่มนี้ไม่มีเงินจับจ่ายแล้วก็กระทบไปยังเอสเอ็มอีต่อเนื่อง” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีนโยบายชัดเจนที่จะเข้ามาดูแลภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี เช่น มีกลไกจากเงินกองทุนหมู่บ้านเข้ามาดำเนินการ ตลอดจนด้านโครงสร้างภาษีเอสเอ็มอีที่ ส.อ.ท.ได้เสนอไปแล้ว ขณะที่การลงทุนก็กำลังปรับปรุงมาตรการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ดียิ่งขึ้น หากดำเนินการทั้งหมดเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะค่อยๆ ฟื้นตัวและจะต่อเนื่องไปถึงปี 2559
นายสุพันธุ์กล่าวว่า คาดว่า ครม.จะเริ่มทยอยออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศออกมา ซึ่งหลายคนอาจมองว่าบางมาตรการจะเข้าข่ายประชานิยม ส.อ.ท.ยืนยันว่าไม่ได้เห็นด้วยกับประชานิยมแต่จำเป็นจะต้องค่อยๆ เลิกและปรับใหม่เพราะไทยเสพติดมานาน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มีทั้งระบบประกัน และจำนำ โดยต้องแบ่งโซนเพาะปลูกหากอยู่นอกโซนก็ไม่ดูแลแล้วค่อยๆ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ก็จะทำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตแต่ละชนิดพอที่รัฐจะประเมินเงินช่วยเหลือดูแลช่วงสินค้าตกต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้สินค้าเกษตรหลักที่รัฐต้องเข้ามาดูคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย
“เราต้องแก้ระยะสั้น และมองระยะยาวกรณีดิจิตอลอีโคโนมี จำเป็นจะต้องมีไวไฟ มี 4G ทิศทางอุตสาหกรรมไปทางนี้หมดอีกหน่อยจะชิฟไปอย่างรุนแรง ต้องลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้รองรับไว้” นายสุพันธุ์กล่าว