xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ทำโรดแมป ดันธุรกิจบริการ ฟื้นเศรษฐกิจ ด้าน “วิรไท” ชี้ส่งออกปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ทำโรดแมปผลักดันธุรกิจบริการกอบกู้เศรษฐกิจไทย เตรียมหารายได้จากภาคบริการแทนพึ่งพาภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียว “วิรไท” ชี้ภาคส่งออกมีความเสี่ยงหนัก หลังทุนนอกไม่มา จีนลดการนำเข้า กำลังผลิตส่วนเกินมีมาก กระทบราคาสินค้าในตลาดโลก แนะไทยวางยุทธศาสตร์ให้ชัดต้องการให้ประเทศไปทิศทางใด พร้อมหนุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัว “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้มอบหมายให้ สนค.จัดทำโรดแมปในการพัฒนาธุรกิจบริการ เช่น ลอจิสติกส์ สุขภาพและความงาม การค้าปลีก และแฟรนไชส์ เป็นต้น เพราะไทยจะพึ่งพาแต่ภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียวต่อไปอีกไม่ได้ จะต้องผลักดันตัวเองให้เป็นผู้ส่งออกธุรกิจบริการให้ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

“ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจบริการมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงาน การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และการหาทางสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ สนค.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่จะจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการค้าของประเทศไทย ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว โดยให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และทันสมัย สำหรับใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ทันที

นายวิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ฝ่าคลื่นความท้าทายทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า ขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยมีมากขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติหันไปลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่ามากกว่าไทย หลังจากเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่และความขัดแย้งทางการเมือง จีนลดการนำเข้าและหันมาใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โครงสร้างประชากรโลกมุ่งสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ทำให้การบริโภคเปลี่ยน มีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในตลาดโลก และความได้เปรียบของการรวมกลุ่มภูมิภาคเริ่มมีมากขึ้น

“ของไทยเองก็มีการรวมกลุ่มในอาเซียน รวมกลุ่มอาเซียนกับคู่ค้าต่างๆ และกำลังจะเป็น AEC ซึ่งส่งผลดีในแง่การค้า การลงทุน ขณะที่คู่ค้าของไทยอย่างยุโรปที่ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ไทยก็ได้ประโยชน์น้อย เพราะยุโรปมีการรวมกลุ่มกันเองในยุโรป ทำให้ต่อยอดซัปพลายเชนกันได้ หรืออย่างสหรัฐฯ มีการทำ TPP กับหลายประเทศ ถ้าไทยไม่วางยุทธศาสตร์ตรงนี้ให้ดีก็จะกระทบต่อการส่งออกได้”

นายวิรไทกล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การค้าระยะยาว ควรเน้นการจัดทำโปรดักต์ แชมเปียน โดยรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนวางแผนระยะยาวได้ เช่น การกำหนดนโยบายดีทรอยต์แห่งเอเชีย ที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก หรือโครงการครัวไทยสู่โลก การผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผู้ค้าขายระดับโลก (เทรดดิ้งเนชั่น) รวมถึงนโยบายใหม่ๆ อย่างการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การผลักดันการค้าบริการ ที่จะต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง

“เห็นด้วยกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันเรื่องธุรกิจบริการ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและจะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีแผนงานและแนวทางเป็นพิเศษ เพราะการจะมุ่งสู่การเป็นเทรดดิ้งเนชั่นจะทำเพียงแค่การผลิตและส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเน้นในเรื่องบริการด้วย” นายวิรไทกล่าว

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการแก้ไขปัญหาของไทยที่ผ่านมามักจะประสบความล่าช้า โดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน และมักจะเน้นการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เช่น การตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้ามาดูแล หรือแก้ปัญหา ซึ่งก็มีตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้ายกว่าจะร่วมประชุมกันได้ต้องใช้เวลานาน และทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การค้าในอนาคตไม่ได้จบแค่ผลิตสินค้า ส่งไปให้ผู้ซื้อ แล้วเก็บเงิน แต่การขายสินค้าจะต้องบวกเรื่องบริการ ทั้งการขนส่ง คลังสินค้า การบริการหลังการขาย ซึ่งหากเอกชนปรับตัวไม่ทันก็จะเสียโอกาสทางการค้าขายได้

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่จะกระทบต่อการค้าไทยในอนาคต ก็คือ ขณะนี้ประเทศคู่แข่งของไทยได้มีการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และยุโรป เช่น มาเลเซีย เวียดนาม คุยกับสหรัฐฯ ในกรอบ TPP เกาหลีใต้เจรจาเปิดเสรีกับสหรัฐฯ แต่ไทยไม่ได้อยู่ในวงนี้ ซึ่งหากเจรจาสำเร็จจะมีผลกระทบต่อไทยแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุน คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ห้ามต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 49% โดยเฉพาะในธุรกิจบริการที่กำลังจะเป็นอนาคตของไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยไม่ต้องรับการลงทุนในธุรกิจบริการ และหากยังคงปล่อยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตและส่งออกเพียงอย่างเดียวต่อไปจะไม่ไหว และจะเกิดผลกระทบทำให้ภาคการผลิตแย่ตามไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น