เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รายงานล่าสุดของทางการเมืองผู้ดี ที่มีการเปิดเผยในวันพุธ (12 ส.ค.) ชี้ จำนวนผู้ว่างงานในอังกฤษ มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้น จากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินและหนี้สินของหลายชาติในยุโรป
รายงานสรุปภาวะตลาดแรงงานฉบับล่าสุดของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของเมืองผู้ดี (โอเอ็นเอส) ระบุว่า เมื่อนับถึงช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนผู้ว่างงานในอังกฤษได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1.85 ล้านคนแล้ว
รายงานดังกล่าวระบุว่า เฉพาะในช่วงไตรมาสที่สอง หรือช่วงระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายนของปี 2015 นี้ มีจำนวนผู้ว่างงานรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 25,000 รายทั่วอังกฤษ และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ถูกปลดออกจากบรรดาบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศ และผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินและหนี้สินของหลายชาติในยุโรป
ขณะเดียวกัน รายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังพบข้อมูลว่า อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาว หรือกลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ลงมาในอังกฤษ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 16 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งถือเป็นระดับการว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาว ที่สูงที่สุดในรอบหลายปีของอังกฤษ
ข้อมูลล่าสุดของทางการเมืองผู้ดี ระบุว่า พื้นที่ที่มีจำนวนผู้ว่างงานสูงที่สุดของประเทศในเวลานี้ คือ พื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ จากการมีจำนวนผู้ว่างงานคิดเป็นสัดส่วนราว 8.1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศ ส่วนพื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามีจำนวนผู้ว่างงานต่ำที่สุดของอังกฤษในเวลานี้ คือ พื้นที่แถบเมืองชายทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศที่มีสัดส่วนผู้ว่างงานราว 4.4 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ปัญหาการว่างงานถือเป็นความท้าทายใหม่ สำหรับรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน รวมถึงขุนคลังคู่ใจอย่าง จอร์จ ออสบอร์น นอกเหนือจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและมรสุมทางการเงินการคลังในสหภาพยุโรป
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 ก.ค. สื่อดังเมืองผู้ดีอย่าง “ดิ อินดิเพนเดนต์” รายงานว่า สหราชอาณาจักรจะเร่งจัดการลงประชามติ เกี่ยวกับสถานะการเป็น “สมาชิกภาพ” ของสหภาพยุโรป (อียู) ภายในระยะเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีจากนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน กำลังทวีความเชื่อมั่นการเร่งจัดลงประชามติในประเด็นดังกล่าวให้เร็วขึ้นน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการคว้าชัยชนะ ที่ว่ากันว่า จะช่วยเปิดทางให้เกาะอังกฤษได้ก้าวออกจากแผ่นดินใหญ่ของยุโรปที่กำลังถูกรุมเร้าจากทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ การว่างงาน ปัญหาการเมือง ตลอดจนการไหลบ่าเข้ามาของเหล่าผู้อพยพทั้งจากภูมิภาคตะวันออกกลางและจากทวีปแอฟริกา
รายงานจากหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม อย่าง เดวิด คาเมรอน จะประกาศแผนเร่งจัดการลงประชามติดังกล่าวในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรค ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และหากแผนการนี้ได้รับการรับรองจากมติของที่ประชุมพรรค ก็คาดว่าจะสามารถเร่งเดินหน้ากระบวนการจัดลงประชามติ ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2016 เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ เดวิด คาเมรอน เคยประกาศว่า จะการจัดลงประชามติในประเด็นเดียวกันนี้ภายในปี 2017 หลังไม่พอใจกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และนโยบายหลายด้านของอียู โดยเฉพาะนโยบายจัดการปัญหาด้านผู้อพยพ และความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตหนี้สินของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน
เมื่อไม่นานมานี้ มีการเผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดโดยสถาบัน “แบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง” และสถาบันวิจัย “อิโฟ” ในเยอรมนี ซึ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหราชอาณาจักรจะหายไปถึง 14 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงกว่า 215,000 ล้านปอนด์ (ราว 10.89 ล้านล้านบาท) หากลาออกจากการเป็น 1 ใน 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)
ดร.ไธส์ เพเทอร์เซน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง เผยต่อสถานีโทรทัศน์เพรสส์ ทีวีของอิหร่าน เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า การตัดสินใจหันหลัง หรือก้าวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ของรัฐบาลอังกฤษจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกอื่น ๆ ของอียูด้วย โดยเฉพาะทางด้านการเงินการคลัง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่สมาชิกอื่นของอียูจะได้รับ หากอังกฤษลาออกไปนั้นจะไม่รุนแรงเท่ากับ ผลกระทบอันเลวร้ายที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับ เนื่องจากการพ้นสถานะสมาชิกอียู จะมีผลให้เมืองผู้ดีต้องสูญเสียสิทธิพิเศษด้านการค้าทั้งปวงที่ได้รับจากอียู ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ที่ทำไว้
ด้าน อาร์ท เดอ กอยส์ ประธานและซีอีโอ ของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง ออกมาระบุว่า หากปรากฏการณ์ “Brexit” ซึ่งหมายถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เกิดขึ้นจริง จะถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และจะเกิดความสูญเสียต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาล่าสุดในเยอรมนีถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ประกาศจะทบทวนบทบาทของอังกฤษ และอาจลาออกจากการเป็นสมาชิกหากอียูยังไม่ดำเนินการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างแบบขนานใหญ่