เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในสหราชอาณาจักรที่มีการเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (6 ก.ย.) ชี้ว่าชาวเมืองผู้ดีส่วนใหญ่ในเวลานี้ต้องการให้ประเทศของตนก้าวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู)
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสำนักวิจัยเซอร์เวชัน และมีการเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เมล์ ออน ซันเดย์ พบข้อมูลว่า ราว 43 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,004 รายที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ ต้องการให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียู ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 40 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไป ส่วนอีก 17 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขายังไม่ตัดสินใจว่าประเทศของตนสมควรอยู่หรือไปในอียู
ผลสำรวจล่าสุดสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อเทียบกับการสำรวจความคิดเห็นในคราวก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปีที่ระบุว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในเวลานั้น ต้องการให้อังกฤษดำรงความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป ขณะที่อีก 37 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้อังกฤษออกจากอียู
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดยังพบข้อมูลว่า กลุ่มตัวอย่างในส่วนที่ยังหนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปนั้นยอมรับว่า พวกตนอาจ “เปลี่ยนใจ” หากวิกฤตคลื่นผู้อพยพที่กำลังรุมเร้ายุโรปอยู่ในเวลานี้เลวร้ายย่ำแย่ลง
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน มีการเผยแพร่ผลการศึกษาในประเด็นนี้ โดยทางสถาบัน “แบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง” และสถาบันวิจัย “อิโฟ” ในเยอรมนี ที่ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหราชอาณาจักรจะหดหายไปถึง 14 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงกว่า 215,000 ล้านปอนด์ (ราว 10.89 ล้านล้านบาท) หากลาออกจากการเป็น 1 ใน 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังจากการลงประชามติที่คาดว่ารัฐบาลเมืองผู้ดีจะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วงของปี 2016
ดร.ไธส์ เพเทอร์เซน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง เผยต่อสถานีโทรทัศน์เพรสทีวีของอิหร่าน โดยระบุว่าการตัดสินใจหันหลังหรือก้าวออกจากการเป็นสมาชิกอียูของรัฐบาลอังกฤษ จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกอื่นๆ ของอียูด้วย โดยเฉพาะทางด้านการเงินการคลัง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่สมาชิกอื่นของอียูจะได้รับหากอังกฤษลาออกไปนั้นจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบอันเลวร้ายที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับ เนื่องจากการพ้นสถานะสมาชิกอียู จะมีผลให้เมืองผู้ดีต้องสูญเสียสิทธิพิเศษด้านการค้าทั้งปวงที่ได้รับจากอียู ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่ทำไว้
ด้าน อาร์ท เดอ กอยส์ ประธานและซีอีโอของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุงออกมาระบุว่าหากปรากฏการณ์ “Brexit” ซึ่งหมายถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และจะเกิดความสูญเสียต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาล่าสุดในเยอรมนีถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนประกาศจะทบทวนบทบาทของอังกฤษ และอาจลาออกจากการเป็นสมาชิก หากอียูยังไม่ดำเนินการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างแบบขนานใหญ่