xs
xsm
sm
md
lg

ดันธุรกิจบริการนำศก.ชี้ส่งออกปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”ทำโรดแมปผลักดันธุรกิจบริการกอบกู้เศรษฐกิจไทย เตรียมหารายได้จากภาคบริการแทนพึ่งพาภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียว “วิรไท” ชี้ภาคส่งออกมีความเสี่ยงหนัก หลังทุนนอกไม่มา จีนลดการนำเข้า กำลังผลิตส่วนเกินมีมาก กระทบราคาสินค้าในตลาดโลก แนะไทยวางยุทธศาสตร์ให้ชัด ต้องการให้ประเทศไปทิศทางใดพร้อมหนุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัว “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้มอบหมายให้สนค. จัดทำโรดแมปในการพัฒนาธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม การค้าปลีก และแฟรนไชส์ เป็นต้น
เพราะไทยจะพึ่งพาแต่ภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียวต่อไปอีกไม่ได้ จะต้องผลักดันตัวเองให้เป็นผู้ส่งออกธุรกิจบริการให้ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอนาคต
“ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจบริการมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงาน การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และการหาทางสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ สนค. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่จะจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการค้าของประเทศไทย ทั้งในระยะสั้น กลางและยาว โดยให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และทันสมัย สำหรับใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ทันที
นายวิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ฝ่าคลื่นความท้าทายทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า ขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยมีมากขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติหันไปลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนามและเมียนมาร์มากกว่าไทยหลังจากเกินปัญหาน้ำท่วมใหญ่และความขัดแย้งทางการเมือง จีนลดการนำเข้าและหันมาใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โครงสร้างประชากรโลกมุ่งสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ทำให้การบริโภคเปลี่ยน มีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในตลาดโลก และความได้เปรียบของการรวมกลุ่มภูมิภาคเริ่มมีมากขึ้น
“ของไทยเอง ก็มีการรวมกลุ่มในอาเซียน รวมกลุ่มอาเซียนกับคู่ค้าต่างๆ และกำลังจะเป็น AEC ซึ่งส่งผลดีในแง่การค้า การลงทุน ขณะที่คู่ค้าของไทย อย่างยุโรป ที่ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ไทยก็ได้ประโยชน์น้อย เพราะยุโรปมีการรวมกลุ่มกันเองในยุโรป ทำให้ต่อยอดซัปพลายเซนกันได้ หรืออย่างสหรัฐฯ มีการทำ TPP กับหลายประเทศ ถ้าไทยไม่วางยุทธศาสตร์ตรงนี้ให้ดี ก็จะกระทบต่อการส่งออกได้”
นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การค้าระยะยาว ควรเน้นการจัดทำโปรดักส์ แชมเปี้ยน โดยรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนวางแผนระยะยาวได้ เช่น การกำหนดนโยบายดีทรอยต์แห่งเอเชีย ที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก หรือโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก การผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผู้ค้าขายระดับโลก (เทรดดิ้ง เนชั่น) รวมถึงนโยบายใหม่ๆ อย่างการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การผลักดันการค้าบริการ ที่จะต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง
“เห็นด้วยกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันเรื่องธุรกิจบริการ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและจะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีแผนงานและแนวทางเป็นพิเศษ เพราะการจะมุ่งสู่การเป็นเทรดดิ้ง เนชั่น จะทำเพียงแค่การผลิตและส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเน้นในเรื่องบริการด้วย”นายวิรไทกล่าว
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การแก้ไขปัญหาของไทยที่ผ่านมา มักจะประสบความล่าช้า โดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน และมักจะเน้นการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เช่น การตั้งคณะกรรมการ เพื่อเข้ามาดูแล หรือแก้ปัญหา ซึ่งก็มีตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้ายกว่าจะร่วมประชุมกันได้ต้องใช้เวลานาน และทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การค้าในอนาคต ไม่ได้จบแค่ผลิตสินค้า ส่งไปให้ผู้ซื้อ แล้วเก็บเงิน แต่การขายสินค้าจะต้องบวกเรื่องบริการ ทั้งการขนส่ง คลังสินค้า การบริการหลังการขาย ซึ่งหากเอกชนปรับตัวไม่ทัน ก็จะเสียโอกาสทางการค้าขายได้
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่จะกระทบต่อการค้าไทยในอนาคต ก็คือ ขณะนี้ประเทศคู่แข่งของไทยได้มีการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และยุโรป เช่น มาเลเซีย เวียดนาม คุยกับสหรัฐฯ ในกรอบ TPP เกาหลีใต้เจรจาเปิดเสรีกับสหรัฐฯ แต่ไทยไม่ได้อยู่ในวงนี้ ซึ่งหากเจรจาสำเร็จ จะมีผลกระทบกับไทยแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุน คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ห้ามต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 49% โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ ที่กำลังจะเป็นอนาคตของไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยไม่ต้องรับการลงทุนในธุรกิจบริการ และหากยังคงปล่อยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตและส่งออกเพียงอย่างเดียว ต่อไปจะไม่ไหว และจะเกิดผลกระทบทำให้ภาคการผลิตแย่ตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น