xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยออยล์” สรุปขยายโรงกลั่นสิ้นปี 59 เผยน้ำมันผันผวนเก็บสต๊อกเท่า กม.บังคับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยออยล์คาดสรุปแผนการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วันได้ในปลายปีหน้า หวังลดต้นทุนการผลิตและแข่งขันกับโรงกลั่นสิงคโปร์ โดยจะรอความชัดเจนโครงการเพิ่มมูลค่าลองเรสซิดิวที่อยู่ระหว่งการออกแบบฯ ส่วนแผนรับมือราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนหนัก ไทยออยล์ลดการเก็บสต๊อกให้น้อยสุดเท่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อลดขาดทุนสต๊อกน้ำมัน

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยความคืบหน้าขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วันว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการออกแบบเบื้องต้นโครงการเพิ่มมูลค่าของลองเรสซิดิว (long residue) หลังจากนั้นจะทำการออกแบบวิศวกรรมภายในปลายปีนี้ คาดว่าราวเดือน พ.ย. 2559 จะได้ข้อสรุปความชัดเจนว่าเรื่องเม็ดเงินลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนเป็นเท่าไรเพื่อให้เหมาะสมกับแผนการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันก่อนที่จะหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไป

สำหรับเทคโนโลยีนั้น ไทยออยล์ได้ดำเนินการคัดเลือกเป็นส่วนใหญ่แล้วเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น คาดว่าจะสรุปการเลือกเทคโนโลยีได้ในเดือน มิ.ย. 2558

ทั้งนี้ โครงการเพิ่มมูลค่าของลองเรสซิดิวเพื่อเปลี่ยนน้ำมันหนักเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกับการขยายโรงกลั่นน้ำมัน ช่วยลดปริมาณน้ำมันเตาและบิทูเมนที่เป็นผลพลอยได้จากโรงกลั่นน้ำมันที่มีราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบ

ซึ่งรูปแบบการขยายโรงกลั่นนั้น ไทยออยล์มีแผนสร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) ใหม่ขนาด 2 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อทดแทน CDU 1 และ 2 ที่มีกำลังการกลั่นเพียงหน่วยละ 5 หมื่นบาร์เรล/วัน ขณะที่หน่วย CDU 3 มีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 1.75 แสนบาร์เรล/วัน ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับการกลั่นที่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์ได้ เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์แต่ละโรงมีกำลังกลั่นเกิน 4 แสนบาร์เรล/วัน รวมทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ต้นทุนการกลั่นของไทยออยล์อยู่ในระดับ 1 ใน 25 อันดับแรกของโลก

ปัจจุบันบริษัทสามารถกลั่นน้ำมันเตาได้ราว 9%, น้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน 57%, เบนซิน 17%, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 4% วัตถุดิบที่ใช้ผลิตอะโรเมติกส์ 13%

นายอธิคมกล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารสต๊อกน้ำมันโดยเก็บสำรองไว้เท่าที่กฎหมายกำหนดหรืออยู่ที่ 7 ล้านบาร์เรล เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวนอันจะทำให้เกิดการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไทยออยล์จะขาดทุนสต๊อกน้ำมันราว 200-250 ล้านบาท

ขณะนี้ค่าการกลั่น (GRM) ปรับตัวดีขึ้นจากต้นเดือน ส.ค. 58 มาอยู่ที่ระดับ 5.5-6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเทียบกับน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ค่าการกลั่นในไตรมาส 3 นี้ก็ยังอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2558
กำลังโหลดความคิดเห็น