xs
xsm
sm
md
lg

SPRC ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอจากหุ้นเพิ่มทุน-หุ้นเดิมของ ปตท. รวม 1,918 ล้านหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ข้อมูลว่า บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) version แรกเมื่อวันที่ 8 ก.ค.58 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป(IPO)ในครั้งนี้เป็นจำนวนไม่เกิน 1,918,201,047 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 6.92 บาท/หุ้น มีวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อชำระคืนภาระทางการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อนึ่ง บริษัทต้องการจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ บล.ฟินันซ่า บล.ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

สำหรับหุ้นที่เสนอขาย IPO แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน 441,138,678 หุ้น หรือคิดเป็น 9.63% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออกและเสนอขายได้แล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ และส่วนที่ 2 เป็นหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จำนวนไม่เกิน 1,477,062,369 หุ้น คิดเป็นประมาณ 32.23%

นอกจากนั้น บริษัทยังจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก จำนวน 38,433,200 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้บริหารและพนักงานตามโครงการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน(ESOP) และจัดสรรหุ้น จำนวน 191,820,100 หุ้น ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ จะเสนอขายต่อผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินภายหลังการเสนอขายหุ้นที่จัดจำหน่าย เพื่อให้ผู้จัดหาฯ สามารถจัดหาหุ้นส่วนเกินจำนวนได้

ทั้งนี้ SPRC ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 165,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 13.2% ของกำลังการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดของไทย บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ได้แก่ โพรพิลีนเกรดโพลิเมอร์ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว แนฟทาเกรดปิโตรเคมี และรีเฟอร์เมท อีกทั้งยางมะตอย และกำมะถัน ที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งในปี 57 บริษัทมีปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดของโรงกลั่น 52.7 ล้านบาร์เรล

โดย SPRC มี บริษัท เชฟรอน เซาท์ เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของ เชฟรอน เอเชียแปซิฟิค โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 64.0% หลังเสนอขายหุ้น IPO และการขายหุ้น ESOP ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน จะลดสัดส่วนลงเหลือ 55.0% และ บมจ.ปตท.(PTT) ถือหุ้น 36% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 0%

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 57 มีรายได้รวม 229,325.4 ล้านบาท ผลขาดทุนสุทธิ 6,367.4 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.55 บาท จากปี 56 มีรายได้ 260,724.7ล้านบาท กำไร 3,977.1 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.97 บาท


และในงวด 3 เดือนแรกของปี 58 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 บริษัทมีรายได้รวม 45,363.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,600.9 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 70,675.5 ล้านบาท หนี้สินรวม 23,767.1 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 46,908.3 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 0.5

ณ วันที่ 31 มี.ค.58 บริษัทมีทุนจดทะเบียน และทุนชำระแล้ว จำนวน 41,029,510,250 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 4,102,951,025 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.58 มีมติใหิบริษัทฯ ดำเนินการลดทุนโดยการลดมูลค่าที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 6.92 บาท

จากนั้นให้ออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 671,391,978 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 6.92 บาท ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วเพิ่มเป็น 32,772,495,836.76 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 4,735,909,803 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 6.92 บาท และเมื่อรวมหุ้นที่เสนอขาย ESOP แล้ว บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียน 33,038,453,580.76 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 4,774,343,003 หุ้น

คณะกรรมการบริษัทฯ มีนโยบายที่จะพิจารณาเสนอจ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ภายหลังจากการจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภท
กำลังโหลดความคิดเห็น