xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ บินไทยยื่น กมธ.ปฏิรูปแรงงาน สปช. ร้องเหตุถูกฝ่ายบริหารละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหภาพฯ การบินไทย พร้อมด้วย สรส.และ กก.สมานฉันท์แรงงานไทย บุกรัฐสภา ยื่นหนังสือ ต่อ “พล.ท.เดชา” ประธาน กมธ.ปฏิรูปแรงงาน สปช. ร้องกรณีถูก “บิ๊กการบินไทย” ละเมิดสิทธิ และฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 326 ล้านเหตุเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่ทำตามสิทธิและเพื่อพนักงานทุกคน แถมผู้บริหารยังได้ขึ้นเงินเดือนด้วย ชี้เสี่ยงถูกประณามจากองค์กรแรงงานสากลทั่วโลก กระทบภาพบริษัท ผู้ใช้บริการทั่วโลกไม่เชื่อถือ

วันนี้ (24 ส.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.การบินไทย) พร้อมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (IPF) ประจำประเทศไทย พร้อมสมาชิก ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่รัฐสภา กรณีการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย โดยนายดำรง ไวยคณี ประธานสหภาพการบินไทย กล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายบริหารบริษัทฯ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับตัวแทนสหภาพฯ 4 คน เป็นเงินถึง 326.5 ล้านบาท โดยศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2558 นั้นเป็นการละเมิดสิทธิของสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง เพราะกรณีดังกล่าวเกิดจากการเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของพนักงานที่สามารถทำได้ และจะกลายเป็นประเด็นสากลเพราะการกระทำของผู้บริหารการบินไทยส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการบินไทย ทั่วโลกจะมองว่าบริษัท การบินไทย กำลังทำลายสิทธิพื้นฐานของพนักงานและสิทธิของสหภาพแรงงานฯ ทั้งที่มีการตกลงกันไว้แล้วแต่ฝ่ายบริหารกลับฟ้องร้อง

“สหภาพฯ ไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสากล ขณะนี้เป็นที่จับตามองขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (IPF) และสหพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างเป็นสิทธิพื้นฐานของพนักงานและสหภาพฯ”

ทั้งนี้ ตามแถลงการณ์ของสหภาพการบินไทย ระบุว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายผู้แทนสหภาพแรงงานฯ 4 คน จากการชุมนุมเรียกร้องของพนักงาน เมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2556 เพื่อขอความเป็นธรรมให้ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2556 เนื่องจากนายอำพน กิตติอำพน ได้ประกาศให้พนักงานทราบว่าบริษัทฯ มีผลประกอบการดี มีกำไรใกล้เคียงกับปี 2552 คือ 7,000 ล้านบาท ผลจากการชุมนุมของพนักงานระดับล่างทำให้พนักงานทั้งบริษัทฯ รวมทั้งฝ่ายบริหารทุกคนได้รับเงินตอบแทนพิเศษในกรอบวงเงิน 300 ล้านบาท โดยตั้งแต่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายโชคชัย ปัญญายงค์ ลงมาได้รับเงินเฉลี่ยคนละประมาณ 10,000 บาท ส่วนการขึ้นเงินเดือนประจำปี สำหรับพนักงานระดับ 1-7 ที่เรียกร้องให้ขึ้นในอัตรา 7.5% มีผลให้พนักงานระดับ 8-10 ได้รับเพิ่มในอัตรา 5.75% ผู้บริหารระดับ 11-13 ได้รับในอัตรา 4%

หลังจากการชุมนุมผ่านไป 1 ปี คณะกรรมการ EMM โดยนายโชคชัย ปัญญายงค์ เป็นประธานฯ ได้มีมติฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายผู้แทนสหภาพฯ 4 คน คือ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ นายดำรง ไวยคณี นายสมศักดิ์ มาณพ และนายสุภรณ์ วรากรณ์ ให้รับผิดชอบค่าภาพลักษณ์เสียหายทั้งหมด 326,516,130.11 บาท เพราะบุคคลทั้ง 4 เป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อทำข้อตกลงกับฝ่ายบริหารเพื่อให้พนักงานยุติการชุมนุม

การกระทำของฝ่านบริหารของบริษัทฯ เป็นเจตนาที่จะกลั่นแกล้งรังแกผู้แทนพนักงาน เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรงที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ผลของคำพิพากษามิได้ทำให้บริษัทฯได้รับประโยชน์ใดๆ ในทางธุรกิจ หรือทำให้ผลประกอบการของบริษัทฯดีขึ้น แต่กลับเป็นการทำลายชื่อเสียง เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งชาติ ที่ถูกประณามจากองค์กรแรงงานสากลทั่วโลก อาจนำมาซึ่งความไม่น่าเชื่อถือในความซื่อตรง สุจริตของผู้บริหารในสายตาของผู้ใช้บริการทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น