xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” สั่งห้างส่งต้นทุนค่าเช่า ค่าส่วนแบ่งรายได้ร้านฟูดคอร์ท หลังพบจานด่วนไม่ยอมลงทั้งที่ต้นทุนลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการค้าภายในขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งต้นทุนราคาอาหารจานด่วนในฟูดคอร์ท ทั้งค่าเช่า ค่าส่วนแบ่ง ค่าน้ำ ค่าไฟมาให้พิจารณา หลังพบต้นทุนแก๊ส วัตถุดิบลด แต่ราคาไม่ลดตาม เตรียมนัดคุยรายละเอียดภายในสัปดาห์หน้า พร้อมเดินหน้าร้านหนูณิชย์พาชิมให้ครบ 1 หมื่นแห่งภายใน ก.ย. ปีหน้า รับสินค้าอุปโภคบริโภคลดยากหลังดีเซลลง เหตุต้นทุนลงไม่มาก

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งรายละเอียดต้นทุนของร้านอาหารในฟูดคอร์ทมาให้พิจารณาอย่างช้าที่สุดภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหาแนวทางปรับลดราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จลงมา หลังจากต้นทุนด้านต่างๆ ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มที่ลดลงกิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท และวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ผักชนิดต่างๆ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้ากรมฯ จะเชิญห้างมาหารือว่าต้นทุนต่างๆ ที่นำเสนอมามีความเหมาะสมหรือไม่ และจะปรับลดลงมาได้หรือไม่ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าส่วนแบ่งการขาย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนของร้านค้า หากคิดแพงก็จะกระทบต่อราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ แต่หากปรับลดลงมาได้ก็จะทำให้ราคาอาหารปรุงสำเร็จถูกลงตามไปด้วย ซึ่งกรมฯ อยากจะขอความร่วมมือห้างให้คิดว่าบริการด้านอาหารถือเป็นบริการเสริมที่ดึงดูดคนเข้าห้าง ดีกว่าที่จะหากำไรจากจุดนี้

ส่วนกรณีที่มีผลสำรวจว่าอาหารปรุงสำเร็จทั่วประเทศปรับขึ้นราคาเฉลี่ย 5-10 บาทต่อจาน/ชาม เมื่อเทียบกับปีก่อน และภาคใต้มีราคาแพงที่สุดนั้น เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจราคาจริง แต่ยังเป็นข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์รายละเอียด ซึ่งจริงๆ แล้วผลสำรวจก็มีทั้งราคาสูงขึ้นและลดลง โดยที่สูงขึ้นก็เป็นแค่บางพื้นที่ และที่ลดลงก็มีหลายพื้นที่ เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ผัดผักรวมมิตร ข้าวไข่เจียว ที่พบว่าลดลงกว่า 25% เพราะราคาหมู เนื้อไก่ ผักลดลง

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า กรมฯ ได้เดินหน้าผลักดันให้เกิดร้านหนูณิชย์พาชิมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารจานด่วนได้ในราคาไม่เกินจานละ 35 บาท ซึ่งล่าสุดได้หารือกับหอการค้าไทยเพื่อขอความร่วมมือประสานไปยังหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เชิญชวนสมาชิกที่เป็นห้างค้าปลีกค้าส่งในท้องถิ่นลดราคาขายสินค้า หรือทำบัตรสมาชิกเพื่อจัดทำโปรโมชันให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการหนูณิชย์พาชิมในพื้นที่ได้ซื้อวัตถุดิบในราคาถูกเพื่อให้จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จได้ในราคาถูก

โดยกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มร้านหนูณิชย์พาชิมในต่างจังหวัดให้ได้เป็น 10,000 แห่งภายใน 1 ปีนับจากนี้ หรือประมาณเดือน ก.ย. 2559 จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วกว่า 3,000 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,600 แห่ง ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

นายบุญยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่าจะยังไม่มีสินค้ารายการใดปรับลดราคาลง ภายหลังราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบราคาน้ำมันดีเซลที่มีผลต่อราคาสินค้า พบว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงจาก 29.99 บาท/ลิตร เหลือ 23.29 บาท/ลิตร หรือลดลง 22.34% มีผลทำให้ต้นทุนราคาสินค้าลดลงเพียง 0.1-1% เท่านั้น โดยสินค้าที่ต้นทุนลดลง 0.1% เป็นกลุ่มสินค้าน้ำหนักเบา เช่น เส้นหมี่ ผงชูรส ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ต้นทุนลดลง 1% จะเป็นสินค้าหนัก เช่น คอนกรีตบล็อก ปูนซีเมนต์ เหล็ก หมวกกันน็อก เป็นต้น

“แม้ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับตัวลดลง แต่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าลดลงไม่มาก โดยต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่วัตถุดิบที่มีสัดส่วน 70-80% ที่เหลือเป็นต้นทุนค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ค่าเช่าโกดัง ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นกรมฯ ก็ไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้ออ้างปรับขึ้นราคาสินค้า” นายบุณยฤทธิ์กล่าว 


กำลังโหลดความคิดเห็น