xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ดันสำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นอิสระ หวังปลอดการเมืองและอิทธิพลธุรกิจใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เตรียมเสนอ “ฉัตรชัย” เคาะร่างแก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เสนอตั้งสำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ ปลอดการเมืองและอิทธิพลธุรกิจใหญ่ พร้อมยันรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เผยหากเห็นชอบจะนำเสนอ ครม. ก่อนส่งต่อ สนช.พิจารณา นัดถกบอร์ดแข่งขันภายใน พ.ค.นี้ ชงตั้งอนุเชี่ยวชาญค้าปลีกค้าส่งเพื่อวางเกณฑ์ทำธุรกิจ และฟันกรณีฮั้วขึ้นค่าภาระหน้าท่า

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ากฎหมายยังมีจุดอ่อนหลายประเด็น และควรจะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข โดยมีประเด็นสำคัญคือ การตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อทำหน้าที่ดูแลกรณีข้อร้องเรียนทางการค้าต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ การสรรหาคณะกรรมการและเลขานุการสำนักงานจะต้องปลอดจากการเมืองและอิทธิพลของธุรกิจใหญ่ๆ การยืนยันให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมาย และการลดหย่อนโทษให้แก่ธุรกิจที่ให้ข้อมูลและหลักฐานในการพิสูจน์การฮั้วทางธุรกิจ เป็นต้น

“ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว กำลังเสนอให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พิจารณา หากไม่มีข้อแก้ไขอีก ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบถ้อยคำในกฎหมายก่อนส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป” นายสันติชัยกล่าว

นายสันติชัยกล่าวว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คาดว่าจะมีการประชุมได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะเสนอให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาแนวทางเพื่อทำให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีความเป็นธรรมและมีจริยธรรม ผ่านการสร้างมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ยังจะเสนอให้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น กรณีบริษัทเดินเรือปรับขึ้นค่า THC ว่าเข้าประเด็นการฮั้วหรือไม่ หลังจากที่สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร้องเรียนว่าบริษัทเรือที่ให้บริการพร้อมใจกันปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว และการตกลงร่วมกันในการทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

นายสันติชัยกล่าวถึงกระแสการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในเครือบริษัทรายใหญ่ว่า ในเชิงกฎหมายถือว่าไม่ได้ทำผิดที่ทำธุรกิจครบวงจร เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้ขายสินค้าใดบ้าง แต่ในแง่จริยธรรม ก็ต้องพิจารณาว่าการทำธุรกิจลักษณะนี้จะส่งผลทางสังคมอย่างไร ซึ่งเรื่องจริยธรรมกฎหมายคงไปบังคับไม่ได้ แต่กรมฯ จะคอยตรวจสอบในกรณีของพฤติกรรม เช่น หากบริษัทแห่งนั้นทำธุรกิจครบวงจร และมีการขายวัตถุดิบให้บริษัทในเครือต่ำกว่าบริษัทอื่นที่ไม่อยู่ในเครือ ถือว่ามีพฤติกรรมแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนเข้ามาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น