พังงา - ตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ วอลมาร์ท จากสหรัฐอเมริกา ตรวจแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารทะเล การใช้แรงงานทางด้านประมงในพื้นที่จังหวัดพังงา หวังเรื่องการปรับลดระดับประเทศไทยเป็น Tier 3
วันนี้ (30 ก.ค.) นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายมานิต เพียรทอง นายอำเภอตะกั่วป่า นาวาเอกกนกพล พิมพ์ทอง รอง ผอ.รมน.จว.พังงา นายธนกร นราวุฒิพันธ์ หัวหน้าจัดหางานจังหวัดพังงา พ.ต.อ.ธรัฐชา ถมปัทม์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ให้การต้อนรับตัวแทนบริษัท วอลมาร์ท สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นลูกค้าที่สำคัญของ TUF บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งส่งสินค้าอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งไปขายในตลาดยุโรป ทางสหภาพยุโรปให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานทางด้านประมงสอดคล้องต่อที่ EU แจกใบเหลืองประเทศไทย และเรื่องการปรับลดระดับประเทศไทยเป็น Tier 3 ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้มีมาตรการมาแก้ไขปัญหาการทำประมงให้ถูกต้อง โดยปราศจากการทำประมงแบบที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม
โดยในการมาเยี่ยมชมของ วอลมาร์ท ในครั้งนี้ ทางบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ต้องการแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทไทยยูเนี่ยนปราศจากการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย โดยสามารถตรวจสอบได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน supply chain สำหรับที่มาห่วงโซ่อุปทาน เริ่มต้นจากเรือประมงออกทำการประมงสัตว์น้ำส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการจับจะถูกส่งต่อไปที่โรงงานปลาป่นเพื่อผลิตออกเป็นผลิตภัณฑ์ปลาป่น จากนั้นส่งต่อให้โรงงานอาหารสัตว์น้ำ และเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งนำอาหารเหล่านั้นไปเลี้ยงกุ้ง ผลิตภัณฑ์จากกุ้งจะถูกแปรรูปส่งขายในตลาดต่างประเทศทั้งในยุโรป และอเมริกา โดยห่วงโซ่อุปทานนั้นปราศจากการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้ครบทั้งกระบวนการ
นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้รับทริปรีพอร์ต จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น Tier 3 ซึ่งหน่วยงานในจังหวัดพังงา ได้ร่วมกันทำตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหามาโดยตลอด ในเรื่องการค้ามนุษย์ การกระทำการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทาง สม.มผ.ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเข้มงวด โดยการบูรณาการทุกฝ่าย และเป็นเรื่องที่ดีที่ทางบริษัท วอลมาร์ท สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีการค้าขายกับบริษัทในประเทศไทย โดยการรับซื้ออาหารทะเลสด ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ปลาป่น ที่นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ต่อไป เพื่อนำคณะมาดูการผลิตสินค้าต้นทางส่งไปสหรัฐอเมริกาที่มาแบบถูกต้องตามข้อปฏิบัติ และหลักเกณท์ของ IUU ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารปลาป่นในกระบวนการผลิตที่ถูกต้องทั้ง 15 ข้อ ซึ่งการลงมาดูในพื้นที่ก็สร้างผลดีให้แก่แหล่งผลิตอาหารทะเล เป็นที่น่าพอใจของทางคณะผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ วอลมาร์ท แต่อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คาดว่าทางคณะก็จะนำเรื่องนี้ไปบอกกล่าวต่อตัวแทนในพื้นที่ของเขาต่อไป