เผยสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยวิกฤตหนัก ยอดขายลดลงต่อเนื่อง หลังผ่าน Q2 ร่วงกว่า 35% “เอสเอ็มอีแบงก์” เผยแห่ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ดอกเบี้ยพิเศษ 4% ต่อปีใช้ประคองธุรกิจ คาดไม่เกิน ก.ค.ปล่อยหมด 1.5 หมื่นล้านบาท แย้ม ก.คลังเพิ่มทุนให้อีก 1 พันล้านบาทขับเคลื่อนกองทุนร่วมทุน ระบุคาดหลังผ่าน Q3 อาการกระเตื้อง ผลจากโครงการลงทุนภาครัฐ และบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว
นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากการลงสำรวจพื้นที่และพูดถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยอดขายหลังผ่านไตรมาส 2 ลดลงอีกประมาณ 5% จากหลังผ่านไตรมาส 1 ลดลงจากปีที่แล้ว (2557) ประมาณ 30% รวมเป็นขณะนี้ยอดขายของเอสเอ็มอีลดลงไปถึง 35% โดยรายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ประกอบการระดับจิ๋วถึงกลางเล็ก
ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ดอกเบี้ยพิเศษ 4% ต่อปี วงเงินรวมถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขระยะเวลากู้ยืม 5 ปี คิดดอกเบี้ย 7% โดยในช่วง 3 ปีแรกรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% สำหรับสินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาทแรก ดังนั้น ธนาคารจะปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ย 4% ในช่วง 3 ปีแรก ส่วน 2 ปีที่เหลือให้เอสเอ็มอีแบงก์พิจารณาตามสมควร โดยสามารถให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้การตอบรับสูงมาก ขณะนี้มีคำขอยื่นสินเชื่อจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท และคาดว่าไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ยอดปล่อยสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาทในโครงการดังกล่าวจะถูกปล่อยหมดแน่นอน ส่วนจะมีการขยายวงเงินอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล
นายสุพจน์เผยด้วยว่า ส่วนใหญ่เอสเอ็มอีที่เข้ามาขอสินเชื่อ Policy Loan ต้องการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประคองธุรกิจ โดยเฉลี่ยจะขอกู้ในวงเงินประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อราย โดยพื้นที่ภาคผู้ประกอบการที่ยื่นขอมากที่สุดคือ ภาคอีสาน ส่วนที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือ ภาคเหนือ ขณะที่ประเภทธุรกิจที่ยื่นกู้มากที่สุด ได้แก่ ค้าปลีกค้าส่ง เกษตร ลอจิสติกส์ และบริการ-ท่องเที่ยว ตามลำดับ ส่วนรายที่ติดเครดิตบูโรนั้น หากต้องการใช้บริการในโครงการนี้จะต้องพิจารณาพิเศษเป็นรายกรณีๆ ไป
นอกจากนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้อนุมัติวงเงินเพิ่มทุนให้ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะผ่าน ครม.ในกลางเดือน ก.ค.นี้ โดยจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์เผยด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อหลังผ่านไตรมาส 3 ของปีนี้ไปแล้ว สถานการณ์ยอดขายของเอสเอ็มอีจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยจากการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐเริ่มดำเนินการ อีกทั้งภาคเกษตรผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งให้การบริโภคภายในประเทศกลับมาคึกคัก ชดเชยรายได้ในส่วนส่งออกที่ลดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจช่วงเวลานี้ขอให้ประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อน และชะลอการลงทุนใหม่ไปก่อน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *