xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เตรียมเจรจา ITD ลดค่างานสายสีเขียว เร่งแก้สัญญา-ปรับแบบไม่รื้อสะพานรัชโยธิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เร่งปรับแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หลังบอร์ดไฟเขียวไม่ทุบสะพานรัชโยธิน เตรียมเรียก ITD เจรจาปรับแบบและแก้ไขสัญญาก่อสร้างใหม่ให้เสร็จใน 2 เดือน เผยค่างานสัญญา 1 จะลดลงจาก 1.52 หมื่นล้าน มั่นใจไม่กระทบแผนก่อสร้างรวม 17 ส.ค.ลงพื้นที่เริ่มงานย้ายสาธารณูปโภค

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ว่า กรณีที่จะใช้แนวทางที่ 2 ที่ไม่รื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับขึ้นไปจากเดิมที่ความสูง 18 เมตร (ระดับเดิม 16 เมตรขยับขึ้นอีก 2 เมตร) และจะมีสะพานข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธินขนาดไปกลับข้างละ 1 ช่องจราจร โดยใช้โครงสร้างเดียวกับรถไฟฟ้านั้น ทางเทคนิคการก่อสร้างไม่มีปัญหา รวมถึงการยกระดับสถานีเสนาขึ้นไปด้วย ซึ่งบอร์ดได้มอบหมายให้ รฟม.เร่งประสานไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมทั้งเชิญ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ TID ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) เข้ามาหารือถึงรายละเอียดในการปรับแบบและการแก้ไขสัญญาในบางส่วน

ทั้งนี้ ตามแบบใหม่ที่ไม่ทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธินนั้น ค่าก่อสร้างจะลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่จะมีงานก่อสร้างเพิ่มในส่วนของทางยกระดับข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธินประมาณ 300 ล้านบาท ขึ้นกับจะเป็น 2 ช่องหรือ 4 ช่องจราจร และทางขึ้นลงที่แยกเสนาด้วย ต้องนำ 2 ส่วนนี้มาคำนวณค่าก่อสร้างใหม่ว่าจะเป็นเท่าไร เมื่อเทียบกับวงเงินค่าจ้างที่ลงนามในสัญญาที่วงเงิน 15,269,000,000บาท โดยหลักคาดว่าค่าก่อสร้างจะลดลงจากเดิม โดยให้เจรจาให้ได้ข้อยุติ 1-2 เดือน

“ในทางกฎหมายไม่มีปัญหา เพราะในสัญญาก่อสร้างระบุว่า รฟม.สามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างได้ เพราะแบบเดิมออกแบบไว้ 5-10 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นการจราจรอาจจะไม่หนาแน่นเท่าปัจจุบัน จึงประเมินว่าการทุบสะพานข้ามแยกจะไม่กระทบกับปัญหามากนัก แต่ปัจจุบันรถหนาแน่น จำเป็นต้องปรับแบบเพื่อลดผลกระทบ
ตอนนี้น่าจะเหลือเรื่องที่ต้องคุยกับผู้รับเหมาอย่างเดียว ว่าจะยอมรับประเด็นการปรับแก้สัญญาหรือจะมีข้อโต้แย้งอย่างไรบ้าง และเมื่อปรับแบบทั้งสองฝ่ายต่างต้องประเมินวงเงินกันใหม่ ในภาพรวมไม่กระทบต่อแผนงานก่อสร้าง โดยในวันที่ 17 ส.ค. 2558 จะเริ่มลงพื้นที่เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภคก่อน สามารถเจรจาคู่ขนานไปด้วย” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น