xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ทุบสะพานรัชโยธินแล้ว รฟม.ถอย ยอมปรับแบบสีเขียวเหนือลดจราจรวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบบเดิม รื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ก่อสร้างอุโมงค์ตามแนวถนนรัชดาภิเเษก
บอร์ด รฟม.ลดผลกระทบจราจรแยกรัชโยธิน ยอมปรับแบบก่อสร้างสีเขียวเหนือ ไม่รื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน สั่ง รฟม.หารือ กทม.หาข้อสรุป ลั่นแนวทางใหม่ช่วยลดค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ลง 1,200 ล้าน

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ได้พิจารณาแนวทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเนื่องจากเป็นห่วงกรณีที่ รฟม.ได้ออกแบบให้มีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและก่อสร้างเป็นอุโมงค์ตามแนวถนนรัชดาภิเษก และใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบด้านจราจรติดขัดอย่างมาก

โดย รฟม.ได้นำเสนอแนวทางก่อสร้าง 4 ทางเลือกเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางที่ 2 คือ ไม่รื้อสะพานรัชโยธิน คงไว้เช่นเดิม โดยก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับขึ้นไปจากเดิมที่ความสูง 18 เมตร (ระดับเดิม 16 เมตรขยับขึ้นอีก 2 เมตร) และจะมีสะพานข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธินขนาดไปกลับข้างละ 1 ช่องจราจร โดยใช้โครงสร้างเดียวกับรถไฟฟ้า โดยแนวทางนี้มีข้อดี คือ ใช้เวลาก่อสร้างน้อยลง บรรเทาผลกระทบจราจรระหว่างก่อสร้างลงจากเดิม แก้ปัญหาจราจรในระยะยาว เนื่องจากแยกรัชโยธินตัดพหลโยธินจะไม่มีไฟแดง โดยในแนวพหลโยธินจะมี 2 ชั้น คือ ถนนเดิม และสะพานข้ามแยกใต้รถไฟฟ้า ส่วนแนวรัชดาฯ มีสะพานข้ามแยกเดิม นอกจากนี้ยังสามารถลดค่าก่อสร้างลงได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) บริษัทอินตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ TID เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 15,269,000,000 บาท

โดยมอบให้ รฟม.ไปหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและออกแบบด้านเทคนิคร่วมกัน รวมถึงดูความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานข้ามแยกใต้แนวรถไฟฟ้าจากแยกรัชโยธินยาวไปถึงแยกเกษตรได้หรือไม่ หากไม่ได้จะก่อสร้างเป็นช่วงๆ คือข้ามแยกรัชโยธิน แยกเสนา และแยกเกษตร โดยค่าก่อสร้างจะปรับลดลงผันแปรตามรูปแบบ โดยจะไม่สูงกว่าวงเงินที่ได้ลงนามสัญญากับ ITD ไว้ จ่ายค่าก่อสร้างตามเนื้องานจริงไม่กระทบต่อสัญญา อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ รฟม.จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมในช่วงที่มีการปรับแบบ แต่จะเร่งรัดเพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการก่อสร้าง ส่วนสะพานข้ามแยกเกษตรนั้นไม่มีปัญหาด้านการจราจรมากนักในการทุบตามแผนเนื่องจากมีอุโมงค์ด้านล่าง

สำหรับอีก 3 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 ก่อสร้างรูปแบบเดิมตามสัญญา คือรื้อสะพานรัชโยธิน ก่อสร้างทางลอด (Underpass) ทดแทน และก่อสร้างสะพานข้ามแยกในแนวถนนพหลโยธิน ใต้รถไฟฟ้า ซึ่งแนวทางนี้จะมี 4 ชั้น คือ แนวรัชดาฯ มีชั้นอุโมงค์ แนวพหลโยธิน มีถนนเดิม มีสะพานข้ามแยกใต้รถไฟฟ้าและมีรถไฟฟ้า ข้อเสียคือ จะมีปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างก่อสร้าง แต่ข้อดี จะสามารถแก้ปัญหาจราจรระยะยาวได้สมบูรณ์แบบ

แนวทางที่ 2 รื้อสะพานรัชโยธินแนวถนนรัชดาฯ และก่อสร้างใหม่ให้สูงขึ้นที่ระดับ 24 เมตรข้ามโครงสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะกระทบด้านความปลอดภัยซึ่งต้องออกแบบให้มีระยะทางลาดยาวไปจนถึงหน้าศาลอาญา และแนวทางที่ 3 ไม่รื้อสะพานรัชโยธิน ไม่มีอุโมงค์ ก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างรถไฟฟ้า และสะพานข้ามแยกใต้รถไฟฟ้า
แบบใหม่ ไม่รื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน
กำลังโหลดความคิดเห็น