xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC จ่อตั้งนิคมฯ ไบโอฮับ 2 พันไร่ ดึง รง.น้ำตาลถือหุ้น 50% สรุปสิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พีทีที โกลบอลฯ เตรียมผุดนิคมฯ ไบโอฮับ 2 พันไร่ในภาคกลาง โดยร่วมทุนกับผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย คาดได้ข้อสรุปปลายปีนี้ หวังดึง Nature Work เลือกไทยเป็นฐานผลิต PLA แย้มเตรียมเซ็นสัญญาพันธมิตรผุดโครงการโพลียูรีเทนภายในเดือนนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ในสิ้นปีนี้บริษัทฯ ได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยทำนิคมอุตสาหกรรมด้านไบโอพลาสติก (ไบโอฮับ) บนพื้นที่ 2 พันไร่ในภาคกลาง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นประมาณ 50%

โครงการนิคมฯ ดังกล่าวจะมีการตั้งโรงหีบอ้อยเพื่อนำน้ำอ้อยไปทำไบโอพลาสติก และเอทานอล โดยไม่มีการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อจำหน่าย ส่วนชานอ้อยนำไปผลิตไฟฟ้า โดยนิคมฯ ดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ และมั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ทาง NATURE WORKS ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโครงการผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA ในไทย เนื่องจากมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบและต้นทุนต่ำในการผลิตไบโอพลาสติก PLA โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางมาเลเซียพยายามที่จะดึง NATURE WORKS มาตั้งโรงงานผลิต PLA ในมาเลเซียโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

“พาร์ตเนอร์มีพื้นที่ 2 พันไร่ในการเตรียมพัฒนานิคมฯ ไบโอฮับ โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นสุดท้าย โดยจะรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในพื้นที่แถวนั้นเพื่อนำมาหีบเป็นน้ำอ้อยมาผลิตเอทานอลขายให้ ปตท. และส่วนหนึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติก PLA ต่อไป ซึ่งพาร์ตเนอร์นี้จะเป็นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของไทย”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนโพลียูรีเทนในไทยว่า บริษัทฯ เตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อลงทุนทำโรงงานผลิตโพลียูรีเทนในเดือน ส.ค.นี้ โดยโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่ใช้ Shale Gas เป็นวัตถุดิบที่สหรัฐฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง รายละเอียดเงินลงทุนและจัดหาเงินกู้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปตัดสินใจลงทุนหรือไม่ในกลางปีหน้า การตัดสินใจมองลู่ทางการลงทุนปิโตรเคมีในสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเทศที่มีก๊าซฯ ราคาไม่แพงและสำรองจำนวนมาก

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาที่จะนำแนฟทาจากกระบวนการกลั่นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ หลังจากแนวโน้มก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดน้อยลง และแนวโน้มราคาน้ำมันไม่ขยับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ และใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักร 3 ปี

ซึ่งที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันของพีทีที โกลบอลฯ มีแนฟทาที่ได้จากการกลั่นประมาณ 2 ล้านตัน/ปี แต่ส่งออก 7-8 แสนตัน ซึ่งในอนาคตจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนใช้ก๊าซฯ 85% แนฟทา 15% ก็จะเปลี่ยนเป็นก๊าซฯ 60% แนฟทา 40%

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ทิศทางของบริษัทฯ นับจากนี้จะหันมาให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Product : HVP) มากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานปิโตรเคมี โดยตั้งเป้าหมายรายได้จาก HVA ปีละ 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ปิโตรเคมี จากปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้ HVP ปีละ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของรายได้รวมปิโตรเคมี

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอยู่ที่จังหวัดระยองในปี 2549 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีนักวิจัยรวม 200 คน ซึ่งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการสร้างและรักษาความเป็นผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาใช้เงินในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปแล้ว 9 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น