xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนโวยซ้ำ “ฉัตรชัย” ดองเค็ม กม.แข่งขัน แฉบิ๊ก รสก.-เอกชนล็อบบี้ไม่ให้แก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกชนโวย “ฉัตรชัย” อีกรอบ ถ่วงแก้ไขกฎหมายแข่งขัน เก็บร่างเข้าลิ้นชัก ทั้งที่เส้นตาย คสช.ต้องทำให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แฉถูกบิ๊กรัฐวิสาหกิจ บิ๊กธุรกิจบีบไม่ให้ปรับแก้ เหตุหวั่นถูกควบคุม ประชดถ้าไม่ผ่านในรัฐบาลชุดนี้ชาติหน้าก็ไม่ได้แก้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ภาคเอกชนในภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2522 อีกครั้ง หลังจากที่กรมการค้าภายในซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมายได้มีการนำเสนอร่างแก้ไขให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พิจารณาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น รมว.พาณิชย์ได้ขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจน และกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2558 ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาก ครม.เห็นชอบก็จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากกรมการค้าภายในได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้ข้อสรุปในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแล้ว ก็ได้มีการนำเสนอให้ รมว.พาณิชย์พิจารณาในเดือน พ.ค. 2558 แต่ รมว.พาณิชย์ก็ไม่ได้มีการพิจารณา ยังคงเก็บเรื่องเงียบไว้จนบัดนี้ และไม่รู้ว่าจะได้รับการนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาได้เมื่อไร ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าเป็นหนึ่งในกฎหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข และมีเส้นตายให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย หลังจากที่ รมว.พาณิชย์ได้ขอให้ไปรับฟังความคิดเห็นยังคงยืนยันในหลักการเดิม คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์, กรรมการต้องสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ, กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชน และแสวงหาผลกำไรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้, เพิ่มเติมคำนิยมของบริษัทให้ครอบคลุมบริษัทในเครือ, เปลี่ยนแปลงโทษ ทั้งอาญาและปรับ เพิ่มโทษทางปกครอง และกำหนดให้สามารถพิจารณาเอาผิดกับธุรกิจไทยที่กระทำผิดนอกราชอาณาจักร แต่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่อยากให้มีการปรับแก้ เนื่องจากจะถูกให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และทำการเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจแข่งกับผู้ประกอบการรายกลางและเล็กเหมือนกับที่ผ่านมาไม่ได้ จึงได้มีความพยายามในการล็อบบี้ไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งในการปรับแก้ครั้งนี้ เดิมกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเฉพาะที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เมื่อปรับปรุงใหม่ได้กำหนดให้ทุกรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ก็เลยยิ่งมีแรงต้าน

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีข่าวว่า ปตท.ได้พยายามล็อบบี้ไม่ให้กระทรวงพาณิชย์ผ่านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งรวมถึงธุรกิจรายใหญ่ที่มีข่าวเช่นเดียวกันว่าไม่ต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เช่น กลุ่ม ซี.พี. และกลุ่มไทยเบฟ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงคาดหวังให้กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพราะขณะนี้ 138 ประเทศทั่วโลกได้มีการออกกฎหมายแข่งขันและมีการบังคับใช้ที่เข้มงวด กระทั่ง สปป.ลาวก็มีกฎหมายที่บังคับใช้เข้มงวด ซึ่งหากไทยไม่เร่งผลักดันในสมัยรัฐบาลชุดนี้ เชื่อว่าหากมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็คงไม่มีทางที่จะมีการแก้ไขได้เพราะจะถูกกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจทำการล็อบบี้เช่นเดิม จึงอยากขอให้เร่งรัดโดยเร็ว เหมือนกับการแก้ไขปัญหาเรื่องประมง และเรื่องการบิน เพราะต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เรื่องหนึ่งที่จะใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจก็คือ การมีกฎหมายแข่งขันที่บังคับใช้สมบูรณ์แบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น