xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเบฟ” เร่งปั๊ม 3 แสนล้าน จ่อรุกเปิดศึก “ไวน์-น้ำแร่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“วิเชฐ ตันติวานิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ASTVผู้จัดการรายวัน - “ไทยเบฟ” โชว์รายได้ปี 57 ทะลุ 1.6 แสนล้านบาทจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 85% เร่งเครื่องแผนงานวิสัยทัศน์ 2020 เพิ่มสัดส่วนรายได้เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 50% พร้อมรายได้รวม 3 แสนล้านบาท เตรียมส่งชาเขียวบุกเมืองลอดช่องผ่านเครือข่าย F&N แย้มไต๋พร้อมซื้อกิจการที่มีอนาคตและลงทุนใหม่ทุกจังหวะ โดยเฉพาะ “ไวน์” และ “น้ำแร่ธรรมชาติ”

นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ “กลุ่มไทยเบฟ” ได้ซื้อหุ้นจำนวน 28% ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด (F&N) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีความโดดเด่นทั้งผลิตภัณฑ์และการกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน เมื่อปี 2555 ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นและมีมูลค่าตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ คิดเป็นจำนวนเงิน 19,209 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ณ วันที่ 31 มี.ค.58)

ในปี 2557 “กลุ่มไทยเบฟ” มีรายได้รวม 162,040 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21,433 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากการจำหน่ายในประเทศ 96% และต่างประเทศ 4% (กลุ่มประเทศอาเซียนประมาณ 1.2-1.5%) แบ่งเป็นรายได้จาก 4 สายธุรกิจคือ สุรา 64.6% เบียร์ 21.7% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 9.7% และอาหาร 4%

“ปัจจุบัน กลุ่มไทยเบฟถือเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ชั้นนำรายหนึ่งของเอเชีย ทั้งยังมีศักยภาพครบทั้งด้านเงินลงทุน การบริหารธุรกิจ การกระจายสินค้า และอื่นๆ จึงมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนด้านการผลิต หรือแม้แต่การซื้อและควบรวมกิจการอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีโอกาสและอนาคต เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และความหลากหลายของสินค้า โดยขณะนี้กำลังเริ่มให้ความสนใจและศึกษาตลาดเครื่องดื่มประเภทไวน์และน้ำแร่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประเภทสินค้าในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ” นายวิเชฐกล่าวเสริม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดไวน์ของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงกว่า 10% ด้วยมูลค่าสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณเกือบ 10 ล้านลิตรต่อปี เนื่องจากมีความหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์และราคา อีกทั้งยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจน ประกอบกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้หญิงหันมาดื่มไวน์มากขึ้น ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะไวน์ราคาถูกและราคาปานกลางตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ส่วนตลาดน้ำแร่ธรรมชาติของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.5 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 18% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับน้ำดื่มธรรมดาพบว่ามีอัตราเติบโตต่ำกว่าถึง 5%

นายวิเชฐกล่าวอีกว่า จากการกำหนดวิสัยทัศน์ 2020 ของ “กลุ่มไทยเบฟ” เมื่อปลายปี 2557 มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วน 50% พร้อมเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 50% โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนเป็นหลัก พร้อมกำหนดกลยุทธ์หลัก 5 ด้านคือการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ, ความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์, ตราสินค้าที่โดดเด่น, การขายและการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง และความเป็นมืออาชีพในการบริหารงาน

ตามวิสัยทัศน์ 2020 มีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ระยะแรกในปี 2558-2560 จะเน้นกลยุทธ์การจัดการด้านการกระจายสินค้าให้ครบทุกผลิตภัณฑ์และครอบคลุมทุกพื้นที่ ก่อนที่จะเป็นผู้นำตลาดในทุกผลิตภัณฑ์ พร้อมมีรายได้ขั้นต่ำ 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2561-2563

ทั้งนี้ ในส่วนของสุราจะเน้นผลิตภัณฑ์หลักคือ หงส์ทอง, เบลนด์ 285, รวงข้าว และ Old Pulteney ทำตลาดหลัก คือ ไทย รองลงมาคือฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า ส่วนเบียร์เน้นผลิตภัณฑ์ช้าง ทำตลาดหลักคือไทยและสิงคโปร์ ตลาดรองคือ พม่าและกัมพูชา ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ โออิชิ, เอส, 100PLUS และ Nutrisoy เน้นตลาดหลักคือไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนตลาดรองคือพม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

“ปัจจุบันบริษัทฯ กำลังเร่งดำเนินงานด้านการตลาดเพื่อสร้างความชัดเจนให้ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศ เพื่อนำผลตอบรับของผู้บริโภคมากำหนดยุทธศาสตร์เพื่อใช้ในการแข่งขัน โดยเฉพาะในส่วนของชาเขียวซึ่งถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงที่สุดจนอาจกล่าวว่าเป็นสงครามมวลชนที่จำเป็นต้องมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ทำตลาดประเทศลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซียแล้ว จะเริ่มทำตลาดสิงคโปร์อย่างจริงจังผ่านเครือข่ายของ F&N ภายในปี 2558”

นายวิเชฐกล่าวในตอนท้ายว่า บริษัทฯ มีนโยบายการทำตลาดในลักษณะ “เมืองล้อมป่า” ด้วยการใช้ประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการผลิตซึ่งปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมด 31 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานผลิตสุรา 18 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 10 แห่ง ทั้งยังถือว่ามีระบบลอจิสติกส์และกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวนจุดขายทั่วประเทศกว่า 4 แสนแห่ง พร้อมรถขนส่งสินค้ากว่า 7 พันคัน และตู้แช่เย็นมากกว่า 1 แสนตู้




กำลังโหลดความคิดเห็น