“ไทยเบฟเวอเรจ” ประกาศเลิกใช้ S&P ในการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือองค์กร หลังโดนปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือ ด้าน S&P ไม่จบหั่นเกรดอีกรอบ พร้อมปรับสู่สถานะ “ขยะ” กดราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาดิ่ง ผู้บริหารยืนยันไม่มีผลต่อภาระหนี้ ชี้เหตุเลิกใช้เพราะ S&P มีการปรับเกณฑ์ใหม่ แต่ยังคงใช้การจัดอันดับจาก “มูดี้ส์” และ “ทริส เรทติ้ง” ต่อไป ด้านโบรกฯ เชื่ออัตราการเติบโตในครึ่งปีหลังดีขึ้น ดันปีหน้าขยายตัว และยังมีโอกาสเห็นเงินปันผล
นายสิทธิชัย ชัยเกรียงไกร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ THBEV ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า สืบเนื่องจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้รับทราบว่า สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการจัดอันดับขององค์กร (วิธีการประเมินกลุ่ม) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2556 และต่อมา S&P ได้จัดอันดับประกาศปรับลดอันดับเครดิตด้านองค์กรในระยะยาวของบริษัท จาก BBB-/Watch Negative เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2556
ทั้งนี้ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ขอยืนยันว่าการปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวของ S&P ไม่มีผลกระทบต่อภาระหนี้ในปัจจุบันของบริษัท อีกทั้งบริษัทได้ตัดสินใจขอถอนตัวจากการรับบริการด้านการจัดอันดับของ S&P และจะยังคงที่จะรักษาข้อตกลงในการจัดอันดับเครดิตความน่าชื่อถือขององค์กรกับ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (Moody’s) และ บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ต่อไป
โดยอันดับเครดิตที่ Moody’s จัดให้แก่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ในปัจจุบันอยู่ที่ Baa3 แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับ “AA-” โดยทริสเรทติ้ง
ต่อมา หลังจากที่บริษัทมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าว ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานว่า S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จาก BBB-/Watch Negative มาสู่ระดับ “BB+” พร้อมทั้งประกาศให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง (creditwatch) โดยเชื่อว่า มีแนวโน้มเป็นเชิงลบ หรือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ สู่สถานะ “ขยะ”
โดยระบุว่า ไทยเบฟเวอรเรจ มีความน่าเชื่อถือที่อ่อนแอมาก รวมถึงกลุ่มบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ โดยเฉพาะ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท จำกัด มีภาระหนี้จำนวนมาก และลักษณะหนี้ที่มีสถานะด้อยสิทธิ ทำให้บริษัทมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน, ความสามารถในการชำระหนี้ และนโยบายทางการเงินของบริษัท ขณะเดียวกัน หลังจากมีการประกาศลดอันดับดังกล่าวของ S&P ก็มีผลให้ราคาหุ้นของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ลดลงไปกว่า 2% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ที่ 0.465 ดอลลาร์สิงคโปร์
“เราปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเบฟ เนื่องจากขณะนี้ เรามองว่าไทยเบฟเป็นสมาชิก “หลัก” ของกลุ่มบริษัทที่เราประเมินว่ามีคุณลักษณะด้านความน่าเชื่อถือที่อ่อนแอมากกว่า เมื่อเทียบกับไทยเบฟ ในขณะที่มีสถานะเป็นองค์กรเอกเทศ โดยกลุ่มบริษัทดังกล่าว ประกอบด้วย ไทยเบฟ, เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ และ ทีซีซี แอสเซ็ท มีภาระหนี้จำนวนมาก ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการมีภาระหนี้จำนวนมากของทีซีซี แอสเซ็ท และลักษณะหนี้ที่มีสถานะด้อยสิทธิของทางบริษัท มีแนวโน้มที่จะทำให้ไทยเบฟ ใช้นโยบายการเงินในเชิงรุกมากขึ้น และจะส่งผลกระทบในระดับหนึ่งต่อสถานะทางการเงิน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ และนโยบายทางการเงินของบริษัท” นายซาเวียร์ จีน นักวิเคราะห์ S&P ให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม การปรับอันดับ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ของ S&P นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนมุมมองใหม่เป็นการมองภาพรวมทั้งกลุ่ม แทนที่จะมองเฉพาะ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นการให้ความเห็นต่อเนื่องจากครั้งก่อนที่ให้แนวโน้ม “เป็นลบ” เพราะในเรื่องความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เป็นหลัก หลังจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เข้าซื้อ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ได้มีผลให้เกิดการก่อหนี้ และทำให้ภาระหนี้ (leverage) สูงขึ้น จนอาจกระทบกระเทือนต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
ก่อนหน้านี้ นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ให้ข้อมูลถึงผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรก 2556 ว่า ยอดขายติดลบ 7.3% ส่วนกำไรปรับตัวลดลงตามไปด้วยที่ 13.5% เนื่องจากกำลังซื้อที่ปรับตัวลดลง ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าตามกำลังซื้อตัวเองมากขึ้น ประกอบกับบริษัทที่ผ่านมาไม่ใช่หน้าขายของสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกปี 2556 ถือว่าเป็นไปตามเป้าที่วางไว้
โดยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหน้าขาย เพราะเป็นช่วงของการเฉลิมฉลองต่างๆ ทำให้บริษัทคาดว่าภาพรวมยอดขายจะกลับมา และทำให้มีตัวเลขเป็นบวก โดยทั้งปี 2556 ยอดขายน่าจะเติบโตที่ 4-5% หากไม่มีปัจจัยลบในประเทศ อย่างเช่น การเมือง และผู้บริโภคยังคงใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีเป็นปกติ
สำหรับแผนการทำตลาดจากนี้ไป ไทยเบฟเวอเรจ จะเน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่าในไทย โดยสินค้าที่จะรุกทำตลาดอาเซียนจะเป็นทั้งกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ และกลุ่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สัดส่วนยอดขายของกลุ่มนอนแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปัจจุบัน เป็น 30% ภายใน 1-2 ปี ซึ่งสินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ของบริษัท เช่น โซดา, น้ำดื่มช้าง, โออิชิ, เอฟแอนด์เอ็น เป็นต้น
ภาพรวมโครงสร้างรายได้รวมของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจมาจาก 4 ส่วนหลัก คือ ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.เสริมสุข, บมจ.โออิชิ กรุ๊ป และ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ จำกัด หรือ เอฟแอนด์เอ็น โดยปี 2555 ที่ผ่านมา มียอดขายกว่า 1 แสนล้านบาท ไม่นับรวมยอดขายจากการควบรวมกิจการเอฟแอนด์เอ็น ที่ไทยเบฟเวอเรจเข้าถือหุ้นประมาณ 28% ซึ่งจะรวมบัญชีรายได้ในปี 2557 โดยเอฟแอนด์เอ็น มีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกันแล้วคาดว่าจะทำให้รายได้รวมของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนยอดขายสินค้าของบริษัท 90% ยังมาจากในไทย และอีก 10% มาจาก ต่างประเทศ โดยสินค้ากลุ่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นสินค้าที่ทำยอดขายหลักให้บริษัทในสัดส่วน 80% ขณะที่กลุ่มนอนแอลกอฮอล์จะมีสัดส่วน 20%
ขณะที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้มูลค่าตลาดของหุ้นไทยเบฟอยู่ที่ระดับ 3.5 แสนล้านบาท มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 12 ของตลาดหุ้นสิงคโปร์ (SGX) จากปี 2555 อยู่อันดับ 20 ซึ่งตามแผนระยะยาวตั้งเป้าหมายต้องการเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย ในปี 2563 หรือแต่ละปีจะต้องเติบโต 15-17% จากปี 2555 ซึ่งมีรายได้ 1.6 แสนล้านบาท
ส่วนมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อหุ้น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มีราคาเป้าหมายในปี 2557 ที่ 0.66 เหรียญสิงคโปร์ หรือให้ผลตอบแทน 10% จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 0.55 เหรียญสิงคโปร์ นอกจากนี้ อัตราราคาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น (พีอี) ของบริษัท อยู่ที่ 20 เท่า ต่ำกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกันทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 25 เท่า
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า กำไรในครึ่งแรกของบริษัทไม่เป็นไปตามคาดเพราะได้มีการเข้าซื้อกิจการ F&N แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังดอกเบี้ยจ่ายจะลดลง และปี 2557 คาดว่ากำไรจะเติบโตในอัตรา 16% ส่วนปลายปีนี้คาดว่าอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จะลงต่ำกว่า 1 เท่า ทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง