ASTVผู้จัดการรายวัน - “ไทยเบฟ” มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว เห็นผลชัดไตรมาสแรกปีหน้า ยันไม่ปรับกลยุทธ์ ยืนตามเป้าหมายวิสัยทัศน์เดิม ด้านกลุ่มสุรามีแผนสร้างตลาดใหม่และปกป้องธุรกิจเดิม ลั่นขยายตลาดพรีเมียม ลุยนำเข้า 2 แบรนด์ปลายปีนี้ พร้อมจัดทัพโครงสร้างแยกบริษัทใหม่ลุยเต็มที่
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจากนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากกระแสความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งเรามีความมั่นใจในเรื่องความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ไตรมาสนี้อาจจะยังทรงๆ อยู่ แต่จะสะท้อนเห็นผลชัดเจนในไตรมาสแรกปี 2559 อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณของทางภาครัฐบาลที่มีต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านนโยบาย หรือเป้าหมายใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ปี 2020 หรือปี 2563 แม้ว่าในช่วงปีนี้อาจจะยังทำไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ในระยะยาวทำได้แน่นอน โดยปีนี้ก็ยังคงเติบโต 2 หลัก
ด้าน นายอวยชัย ตันฑโอภาส กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลยุทธ์หลักของกลุ่มสุรามี 2 ปัจจัย คือ 1. การปกป้องธุรกิจปัจจุบันที่ทำกำไรและรายได้สูงสุดคือกลุ่มสุรา และ 2. การสร้างการเติบโตด้วยการขยายตลาดใหม่ๆ
“ที่ผ่านมาแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี กำลังซื้อถดถอย เราก็ยังสามารถที่จะปกป้องธุรกิจได้ดีพอสมควร ขณะที่ภาพรวมสุราเติบโตแค่ 2-3% แต่สถานการณ์ปีนี้ช่วงไตรมาสหนึ่งตลาดหดตัว ไตรมาสสองตลาดทรงตัว โดยตลาดรวมไปเติบโตที่สุราขาวเป็นหลัก แต่เครือเรามีทั้งสุราสีและสุราขาว โดยสุราสีมี 3 แบรนด์หลัก คือ หงส์ทอง, เบลนด์ 285 และแสงโสม โดยมีแชร์ในตลาดมากกว่า 95% ส่วนสุราขาวก็มีหลายแบรนด์ เช่น รวงข้าว ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดเช่นกัน ส่วนปี 2557 ตลาดรวมตกลง 8%”
ส่วนการสร้างตลาดใหม่ๆ มี 2 แนวทาง คือ 1. การนำสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศให้มากขึ้นด้วยการหาตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพโดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชีย เช่น พม่า และกัมพูชา ที่เริ่มนำไปจำหน่ายแล้ว ส่วนมาเลเซียกับสิงคโปร์ก็มีซิงเกิลมอลต์จำหน่ายแล้ว ขณะที่ตลาดใหญ่อย่างฟิลิปปินส์กับเวียดนามนั้นน่าสนใจ อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมการทั้งในแง่ของตลาด พฤติกรรมบริโภค และการขนส่ง คาดว่าปีหน้าจะเริ่มที่เวียดนามได้แน่นอน
2. การนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ซึ่งจะพยายามเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม หรือตลาดระดับบน โดยปลายปีนี้จะเริ่มนำสินค้าจากบริษัทในเครือในต่างประเทศเข้ามาจาก บริษัท อินเนอร์เฮ้าส์ เบื้องต้นนำเข้ามา 2 แบรนด์ รวม 5 เอสเคยูก่อน คือ แบรนด์ “OLD PULTENEY” 12 ปี ราคา 2.5-8 พันบาท อีกแบรนด์คือ “anCnoc” ราคาเริ่มตั้งแต่ 2 พันบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่เรามีสินค้าจำหน่ายในไทยจากแบรนด์เดิมๆ
“การรุกตลาดพรีเมียมในไทย บริษัทฯ มีการจัดทัพปรับโครงสร้างการดำเนินงานใหม่เพื่อให้สอดรับกับแผนการรุกตลาดครั้งนี้และมีเป้าหมายที่จะมีแชร์ในตลาดระดับพรีเมียมประมาณ 12% ในช่วง 2-3 ปีแรกก่อน โดยปีนี้ได้แยกแผนกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัท โฮเรก้า แมเนจเมนต์ จำกัด เพื่อรุกช่องทางร้านอาหาร โรงแรมที่มีระดับสูง และบริษัท แคช แวน แมเนจเมนต์ จำกัด เพื่อรับผิดชอบช่องทางร้านโชวห่วยที่มีรถมากกว่า 2 พันคัน จากปีที่แล้วที่ได้ตั้ง บริษัท โมเดิร์นเทรด แมเนจเมนต์ จำกัด ไปแล้วเพื่อรับผิดชอบช่องทางโมเดิร์นเทรดต่างๆ”
ส่งผลให้บริษัทฯ มี 5 ช่องทางหลัก คือ 1. การขายผ่านเอเยนต์ที่มีมากกว่า 400 รายใหญ่ 2. ผ่านรถแคชแวน 3. ผ่านช่องทางโฮเรก้า 4. ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด และ 5. ผ่านช่องทางของเสริมสุขที่มีตลาดมากกว่า 2.7 แสนร้านค้าจากทั่วประเทศที่มี 4 แสนร้านค้า
“ก่อนหน้านี้เรามีทีมขายและช่องทางที่ระดับกลางลงล่างเป็นหลัก เมื่อทีมขาย หรือพนักงานจะเข้าช่องทางที่มีระดับ หรือสูงหน่อยก็ขายลำบาก เราจึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำให้ตอนนี้สามารถเข้าได้ทุกช่องทางจากทีมที่มีครอบคลุม ส่วนแผนที่จะขยายตลาดสุราไปยังกลุ่มพรีเมียม หรือกลุ่มระดับบนมากขึ้น โดยวางเป้าหมายมีส่วนแบ่งในกลุ่มพรีเมียมประมาณ 12% ในช่วง 2 3 ปีแรกก่อน ส่วนรายได้จากต่างประเทศจากเดิมที่เครือไทยเบฟมีรายได้จากส่งออกแค่ 5% ในกลุ่มสุราก็คงจะเพิ่มขึ้น” นายอวยชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอวยชัยกล่าวถึงกลุ่มบรั่นดีด้วยว่า ปีหน้าคงจะหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดบรั่นดีมากขึ้น ทั้งในแง่ของการสร้างแบรนด์ การจัดกิจกรรม และแผนการโปรโมชัน ซึ่งจะมีกิจกรรมและการทำตลาดที่เข้มข้นขึ้น ส่วนแบรนด์ “เมอริเดียน” ที่เพิ่งเปิดตัวจำหน่ายมาเกือบ 2 ปี ก็ยังไม่ได้รุกตลาดอย่างจริงจัง แต่ปีหน้าก็จะมีแผนรุกตลาดมากขึ้นเช่นกัน เพราะตลาดบรั่นดีในไทยมีศักยภาพพอสมควร ที่ผ่านมาแบรนด์ใหญ่อย่าง “รีเจนซี่” ครองตลาดมากกว่า 98% จากปริมาณการบริโภคมากกว่า 1.5 ล้านลังต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 มีรายได้รวม 84,697 ล้านบาท เติบโต 4.5% มีกำไรสุทธิ 12,438 ล้านบาท
สำหรับวิสัยทัศน์ของกลุ่มไทยเบฟ ภายในปี 2563 (เริ่มปี 2558-2563) มีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นผู้นำติด 1 ใน 2 ของผู้นำตลาดเครื่องดื่มในอาเซียนในทุกกลุ่มสินค้า หรือทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ทุกแบรนด์ที่ไทยเบฟเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งต้องผลักดันให้ธุรกิจมีรายได้เติบโต 12-15% ทุกปี ขณะที่สัดส่วนรายได้ในกลุ่มเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ต้องเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีเพียง 25% ส่วนเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 75% รวมทั้งต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีรายได้จากต่างประเทศประมาณ 25-30% ขณะที่ตลาดเบียร์ต้องการผลักดันให้เบียร์ “ช้าง” กลับมาเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 45% ภายในปี 2563 จากมูลค่าตลาดรวม 1.25 แสนล้านบาท โดยขณะนี้เบียร์ “ช้าง” มีส่วนแบ่งประมาณ 30%