“ฉัตรชัย” ยอมรับระบายข้าวหมดสต๊อก 18 ล้านตันรัฐขาดทุนเกินแสนล้านบาทแน่ พร้อมยันการขายข้าวเสียเป็นฝุ่นผงไม่ใช่ขายกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ขายตามสภาพ คาดเริ่มประมูลได้ภายในปลาย ก.ค.นี้ “พาณิชย์” วางกรอบรถขนข้าวเข้าโรงงานอุตสาหกรรมต้องติดจีพีเอส ป้องกันวนกลับมาในระบบปกติ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาล ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2558 มีปริมาณทั้งสิ้น 15.11 ล้านตัน แบ่งเป็น 1. ข้าวที่บริโภคได้ 9.15 ล้านตัน เป็นข้าวคุณภาพดีเกรดเอและบี ปริมาณ 1.82 ล้านตัน และข้าวเกรดเอ บี ผสมซี ปริมาณ 7.33 ล้านตัน 2. ข้าวที่จะระบายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมปริมาณ 5.89 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน และข้าวเสีย 1.29 ล้านตัน 3. ข้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีอีก 7 หมื่นตัน
“ยอมรับว่าข้าว 18 ล้านตันที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาดำเนินการและขายออกไปแล้วบางส่วน หากขายหมดอาจจะขาดทุนเกินแสนล้านบาทอย่างที่คาดการณ์กันไว้”
สำหรับข้าวเกรดซีและข้าวเสียเป็นฝุ่นผงที่จะมีการระบายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม คณะทำงานระบายข้าวกำลังพิจารณาราคากลาง และปริมาณที่จะนำมาเปิดประมูล โดยเฉพาะข้าวเสียเป็นฝุ่นผงปริมาณ 1.29 ล้านตัน ไม่ใช่จะขายที่กิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท ตามที่มีข่าวออกมา แต่จะขายตามสภาพข้าว โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งอาจจะระบาย 2-3 รอบ
ส่วนข้าวเกรดซีที่มีอยู่ 4.6 ล้านตัน โดยเป็นคลังข้าวเกรดซีล้วน 1.3 ล้านตัน ที่เหลือผสมอยู่ในคลังข้าวเกรดเอ บี ต้องรอผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่ามีเชื้อราหรือไม่ หากไม่มีก็จะเปิดให้ระบายไปสู่การบริโภค รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การระบายสต๊อกข้าวสารรัฐบาลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งคณะอนุกรรมการระบายข้าวได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดกรอบการระบายข้าวในส่วนที่เป็นฝุ่นผงและข้าวเกรดซี ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น และได้มีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการระบายข้าวออกมาแล้ว
ทั้งนี้ วิธีการระบายข้าวจะมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อไม่ให้ข้าวที่ระบายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมกลับมาระบบบริโภคปกติ โดยได้กำหนดระบบติดตามการประมูล หรือเมื่อผู้ชนะการประมูลที่เป็นภาคอุตสาหกรรมมารับข้าวออกจากโกดัง รถที่มาขนข้าวออกไปจะต้องติดตั้งระบบนำทาง (จีพีเอส) ไปติดตามว่ารถคันดังกล่าวมีการขนข้าวไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตจริงหรือไม่ นอกจากนี้จะมีการจัดส่งรถโมบายล์ยูนิตเข้าไปประสานเพื่อติดตามข้าวที่จะนำไปผลิตเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม
“ยืนยันว่าข้าวที่จะระบายเข้าภาคอุตสาหกรรม คือเป็นข้าวฝุ่นผง คนและสัตว์กินไม่ได้ ก็ต้องนำเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมไปผลิตเป็นไฟฟ้า เอทานอล หรือของใช้ จะมีการติดตามหลังการประมูลอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ข้าวส่วนนี้ย้อนกลับมาสู่ระบบปกติอย่างที่กังวลกัน ส่วนการประมูลจะขายไปยกโกดังหรือแบ่งกองขาย ขึ้นอยู่กับความเสียหายของข้าวในคลังนั้นว่ามากน้อยแค่ไหน หรือดูตามความเหมาะสม” น.ส.ชุติมากล่าว