นักลงทุนยุโรป หรือ TEBA สนใจลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่เชียงราย ชูจุดเด่นเชื่อมหลายประเทศ ด้าน “คมนาคม” เล็ง 6 ทำเลตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานสรุปใน ก.ย.ชง ครม. พร้อมตั้งคณะทำงานร่วม 2 ชุดหารือด้านพัฒนาอากาศยานและด้านยานยนต์ ห่วงไทยต้นทุนลอจิสติกส์ทางถนนสูง ดันฮับภูมิภาคยาก
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. สมาคมการค้าไทย-ยุโรป หรือ Thai-European Business Association (TEBA) ซึ่งนำโดย นายไชยยันต์ สาวนะชัย กรรมการผู้จัดการ TEBA พร้อมผู้แทนนักลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมการบิน ด้านการขนส่ง ด้านลอจิสติกส์ และด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าพบ โดย TEBA เห็นว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการเติบโตที่รองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านการบินจากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่ง 29% ของโลก เพิ่มเป็น 40% ในปี 2031 ซึ่ง TEBA พร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยขอให้ไทยแก้ปัญหาอุปสรรค ปรับแก้กฎระเบียบให้สะดวก เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น ขั้นตอนการพิจารณา อนุมัติ และเอกสารต่างๆ ซึ่งไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข ลดขั้นตอนและลดระยะเวลาลง และการพิจารณาจะใช้หลักการสากล ไม่ใช่ดุลพินิจของคน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งคณะทำงานที่มี นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จะสรุปในเดือน ก.ย. 2558 นี้ โดยพิจารณาความเหมาะสม 5 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินนครราชสีมา สนามบินเชียงราย และสนามบินร้อยเอ็ด โดยเลือก 3 แห่งที่มีความเหมาะสมจัดลำดับ ซึ่งอาจจะเลือก 1 แห่ง หรือมากกว่า 1 แห่ง ขึ้นกับขนาดของพื้นที่ว่าเพียงพอหรือไม่ โดยนำข้อมูลที่นักลงทุนต่างชาติสนใจมาพิจารณาประกอบกันเพื่อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติ เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาให้สิทธิพิเศษในการลงทุนด้วย เช่น บีโอไอ เป็นต้น
“ทาง TEBA สนใจศูนย์ซ่อมที่สนามบินเชียงราย ซึ่งมองว่าเชียงรายอาจจะตั้งอยู่ตอนบนและมีพื้นที่ติดต่อหลายประเทศ ทั้งลาว พม่า จีน การเดินทางไปโดยเครื่องบินเพื่อซ่อมบำรุงซึ่งจะต้องมีการขนส่งชิ้นส่วน และอะไหล่ทางอากาศที่ต้องสะดวกด้วย”
นอกจากนี้ TEBA อยากให้ไทยเร่งแก้ปัญหาการขนส่งเชื่อมเมืองสู่เมืองเพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในขณะที่ไทยถือเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค หากเพิ่มความสะดวกลดต้นทุนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ได้ รวมถึงต้องการให้ไทยลดตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยแสดงความสนใจเส้นทางการคมนาคมขนส่งไปยังภาคตะวันออกของไทย ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์สาย 7 พัฒนามอเตอร์เวย์พัทยา-ระยอง รถไฟจากแก่งคอย-มาบตาพุด รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และพัฒนาเส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด โดยจะเสร็จใน 5 ปีนี้
โดยได้ข้อสรุปที่จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ TEBA ใน 2 เรื่อง คือ 1. คณะทำงานด้านอากาศยาน ซึ่งจะมีการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและการฝึกด้านบุคลากรด้านการบินและภาคพื้น โดยมีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม 2. คณะทำงานด้านยานยนต์ มีนายวรเดชเป็นหัวหน้าคณะและมีผู้แทนจากบริษัทการบินไทยและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ TEBA ได้มาพบตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยทาง TEBA มาขอทราบนโยบายเรื่องความร่วมมือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหรือไม่ในความร่วมมือระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งได้เคยยืนยันไปแล้วว่าไทยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับ TEBA ซึ่งในครั้งนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเหมือนเดิมในความร่วมมือกับ TEBA ทุกด้าน