xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงาน-กฟผ.ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คำนึงถึงชุมชนทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานจับมือ กฟผ.ชี้แจงโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนทุกมิติ โดยเฉพาะการมุ่งสู่เมืองสีเขียว เน้นการท่องเที่ยวและความสวยงามตามธรรมชาติ


รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้หารือร่วมกันและได้ออกเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ โดยมีเนื้อหาชี้แจงว่า การดำเนินโครงการคำนึงถึงความห่วงใยของชุมชน และการพัฒนาในด้านต่างๆ ในทุกมิติของจังหวัดกระบี่ จึงดำเนินการด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

โดยเริ่มออกแบบและรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง (ค.1 ค.2 ค.3) ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ตั้งแต่สิงหาคม 2555 ถึงตุลาคม 2557 ซึ่งได้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอของชุมชน ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ประมง เกษตรกรรม ตลอดจนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่มุ่งสู่การเป็นเมืองสีเขียว เน้นการท่องเที่ยวและความสวยงามตามธรรมชาติ เช่น

1. การขนส่งถ่านหินใช้ระบบปิดจำนวนไม่เกินวันละ 2 ลำ โดยเส้นทางเดินเรือถ่านหินกับแหล่งท่องเที่ยวกับจุดดำน้ำทุกจุดห่างกันเฉลี่ยกว่า 10 กิโลเมตร จึงไม่มีผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเล ปะการัง และที่อยู่อาศัยของพะยูน

2. ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและการขนถ่ายถ่านหินจากเรือส่งผ่านสายพานลำเลียงไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ.ได้ออกแบบเป็นระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่มีการฟุ้งกระจายของถ่านหิน และไม่ทำให้ทะเลปนเปื้อนจากถ่านหิน อีกทั้งไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อาหารทะเล การประกอบอาชีพประมง และวิถีชีวิตชุมชน

3. กฟผ.ได้นำเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและระบบกำจัดมลสารที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ และระบบดักจับสารปรอท และโลหะหนัก จึงสามารถควบคุมมลสารที่ระบายจากปล่องของโรงไฟฟ้าได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง

4. โครงการฯ ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่ทันสมัยที่สุดเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ด้วยระบบเผาไหม้และหม้อต้มไอน้ำระดับ Ultra Super Critical ซึ่งสามารถลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อย CO2 ลงได้ร้อยละ 20

นอกจากนี้ กฟผ.ยังกำหนดนโยบายให้โรงไฟฟ้ากระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ดังเช่น โรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันประเทศดังกล่าวยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีความห่วงใยผลกระทบของโครงการ สามารถติดตามการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงพลังงานและ กฟผ.พร้อมรับฟังข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น