ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการอึ้ง! บอร์ดสิ่งแวดล้อมมีมติให้โรงไฟฟ้าขยะขนาด10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำอีไอเอ ยิ่งทำให้ประชาชนคัดค้านมากยิ่งขึ้น เพราะหวั่นเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเกี่ยวกับจัดสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะว่า ไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ แต่การยกเลิกกฎที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนตนว่าใช้ไม่ได้ แม้แต่ประเทศจีนที่มีขยะล้นเมืองมากกว่าไทยหลายร้อยเท่ายังกำหนดให้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากโรงไฟฟ้าขยะเลย ประเทศจีนกลัวเรื่องมลพิษทางอากาศจากสารไดออกซิน โลหะหนัก ไอกรดที่ปล่อยออกมาจากการเผาขยะ ต้องมีการคัดแยกพลาสติกพีวีซี สารเบนซิน รวมทั้งขี้เถ้าต้องกำจัดอย่างดี
แต่ประเทศไทย โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กลับมีมติให้โรงไฟฟ้าขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ เพียงให้ปฏิบัติตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการกำหนดมาตรการป้องกัน และมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Code Of Practice แทน
มองว่าเรื่องนี้แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้เร็วได้จริง แต่การที่รีบร้อนทำโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบในทุกประเด็นจะกลับนำปัญหามลพิษที่ร้ายแรงจากการเผาขยะไปสู่ประชาชนใกล้เคียงจำนวนมาก ยิ่งทำให้ประชาชนคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ตนเองมากยิ่งขึ้น ต้องเข้าใจว่าเราทำรายงานอีไอเอโรงไฟฟ้าขยะเพื่อให้อะไร
ปัจจัยหลักของการทำรายงาน ที่ต้องคำนึงถึง คือ
1.เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงข้อห่วงกังวลในปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อจะได้ศึกษาหามาตรการป้องกัน และแก้ไขลดผลกระทบจนกระทั่งเห็นร่วมกันทั้งหมด ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ และ คชก. โครงการจะเดินหน้าได้
2.รายงานอีไอเอจะคาดการณ์ว่า มลพิษที่เกิดขึ้นมีปริมาณมากน้อยเท่าใด พื้นที่ไหนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งกรณีที่อุปกรณ์ทำงานปกติ และผิดปกติ หากเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร ติดตามตรวจสอบที่ไหน ตรวจสอบสารพิษอะไร บ่อยแค่ไหน รวมทั้งจัดทำแผนฉุกเฉินให้ชุมชนทั้งในกรณีเกิด ไฟไหม้ สารพิษรั่ว เป็นต้น
3.รายงานอีไอเอจะดูแลผลกระทบจากที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อเนื่องจากการเก็บ ขน รวบรวมขยะ และเทคนิคการทำงานต่างๆ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์กำจัดมลพิษที่ดีที่สุดที่ประชาชน และนักวิชาการยอมรับได้ (Best Available Control Technologies) ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน
4.โรงไฟฟ้าขยะมีสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมาจากการเผาพลาสติกที่อุณหภูมิต่ำกว่า 850 องศา ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไอกรด (HCl) สารปรอท ที่อาจเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งกรณีอุปกรณ์กำจัดมลพิษผิดปกติ การหยุดซ่อมบำรุง การเริ่มสตาร์ทเตาเผา และการที่ขยะซึ่งเป็นเชื้อเพลิงมีค่าความร้อนในการเผาไม่ถึงจุดที่ต้องการ
หากสารพิษที่ปล่อยออกมาเกินมาตรฐานที่กำหนด จะทำอย่างไรทั้งในด้านเทคนิค และการดูแลสุขภาพของประชาชน จะกล้าหยุดโรงเผาขยะหรือไม่ ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปกำหนดให้ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศบริเวณที่รายงานอีไอเอศึกษา และเสนอไว้แล้วว่าเป็นจุดที่มลพิษทางอากาศจะมีโอกาสมาตกมากที่สุดทุกเดือน เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน และติดตั้งอุปกรณ์การตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ ตรวจวัดค่าอย่างต่อเนื่องที่ปลายปล่อง (ระบบ CEMs) และมีการตั้งบอร์ดให้ประชาชนในพื้นที่เห็นตรวจสอบได้ (Display board) แต่ประเทศไทยกำหนดตรวจวัดแค่ปีละ 2 ครั้ง
5.ขี้เถ้าเบา (Fly Ash) ที่เกิดจากการรวบรวมของอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองจากการเผาไหม้จะเป็นศูนย์รวมของสารไดออกซิน และโลหะหนัก ประเทศจีนบอกว่า ต้องนำไปกำจัดแบบฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill) เท่านั้น แต่ประเทศไทยบอกว่า ต้องทำการทดสอบก่อนว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน โดยทำการสกัดออกมาเป็นของเหลวแล้วตรวจวัด (Leachate Test) เทียบกับมาตรฐานน้ำสกัดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
แต่ในความเป็นจริงกรมโรงงานฯ ยังไม่ได้ออกมาตฐานค่าไดออกซินในขี้เถ้าเบา ก็เลยไม่มีการตรวจสารไดออกซิน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะนำขี้เถ้าเบาไปทำอิฐมวลเบา และให้ชาวบ้านเอาไปใช้ก่อผนังบ้าน สารไดออกซินก็อาจรั่วไหลเป็นสารก่อมะเร็งในบ้านได้
6.การลงทุนขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน จะต้องมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะเราจะต้องคุ้มครองประชาชนที่ต้องอาศัยอยู่ตรงนั้นไปอีกนาน ไม่ใช่คุ้มครองแต่ผู้ประกอบการ ทุกวันนี้เราใช้รายงานอีไอเอเป็นเครื่องมือคุ้มครองที่ยังมีความน่าเชื่อถิออยู่บ้าง แต่กลับขอยกเว้นไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ทำไมคอนโดมิเนียม 80 ห้อง ยังต้องทำรายงานเลย ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่างกันเยอะมากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าจากขยะ
7.คู่มือแนวทางปฏิบัติในการกำหนดมาตรการป้องกันและมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code Of Practice) ใครศึกษา และทำออกมา เคยหารือกับนักวิชาการ หรือองค์กรอิสระที่มีความรู้หรือไม่ หรือให้แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีไอเอดูเท่านั้น ตนมองว่าเรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลาดแล้ว แนวร่วมจะไม่มี ประชาชนมองภาพไม่ค่อยดี เป็นภาพที่ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน