xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นพบ “ประจิน” เสนอขยายแหลมฉบังดันเป้าส่งออกรถยนต์เป็น 2 ล้านคัน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หอการค้าญี่ปุ่นพบ “ประจิน” ขอไทยเร่งขยายขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง หวังเพิ่มเป้าส่งออกรถยนต์จาก 1.5-1.8 ล้านคันต่อปีเป็น 2 ล้านคันต่อปี และแก้ปัญหาจราจรติดขัด “ประจิน” เผยเดินหน้าแผนขยายเต็มที่ พร้อมเร่งแหลมฉบังเฟส 3 ด้วย คาดเริ่มก่อสร้างปี 60

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายอะกิระ มูราโคชิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) พร้อมเลขาฯ และผู้บริหาร เข้าพบวันนี้ (10 ก.ค.) ว่า เป็นการมาแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่ง ซึ่งทางหอการค้าญี่ปุ่นได้นำเสนอประเด็นที่จะเป็นความร่วมมือกันในเรื่องการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางราง โดยหอการค้าญี่ปุ่นเห็นว่าท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ของไทยมีความคับคั่ง โดยเฉพาะการจราจรของถนนด้านหน้าท่าเรือ ซึ่งได้ชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาในการขยายไหล่ทางและทำสะพานกลับรถ (ยูเทิร์น) และเพิ่มเส้นทางด่วนเพื่อให้รถอื่นที่ไม่ใช่รถบรรทุกวิ่งในเส้นทางเดียวกันมีทางเลือก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรที่เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังคล่องตัวขึ้น

นอกจากนี้ ทางหอการค้าญี่ปุ่นต้องการให้ไทยขยายท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกรถยนต์ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านคัน-1.8 ล้านคันต่อปี ญี่ปุ่นมีเป้าหมายขยายการส่งออกเป็นอย่างน้อย 2 ล้านคันต่อปี ซึ่งขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงท่าเทียบเรือ A ซึ่งเป็นท่าเรือชายฝั่งรับเรือขนาดกลางลงมา ส่วนท่าเทียบเรือ B, C, D ของท่าเรือแหลมฉบังนั้นจะมีการปรับการบริหารเพื่อให้สามารถรองรับสินค้าเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น พร้อมกับจะมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2560

ส่วนการขนส่งทางรางระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ลาดกระบังนั้น ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รับมอบรถจักรใหม่ครบ 20 คันแล้ว ซึ่งจะแก้ปัญหาหัวรถจักรไม่เพียงพอได้ โดยหลังจากนี้จะสามารถให้บริการด้านขนส่งสินค้าทางรางได้มากขึ้น โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. 2558 เป็นต้นไปจะมีการปรับปรุงการขนส่งสินค้าทางรางในเส้นทางดังกล่าวเกิดความคล่องตัวมากขึ้น และในอนาคตจะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ โดยอยู่ระหว่างหารือกับญี่ปุ่นตามข้อตกลงการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ว่าจะพัฒนาเป็นรางขนาด 1 เมตร หรือขนาด 1.435 เมตร ซึ่งจะทำให้การขนส่งมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

“ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้ขอสำรวจเส้นทางรถไฟจากกาญจนบุรี-แหลมฉบัง จะผนวกโครงการนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ทางญี่ปุ่นเสนอให้ไทยปรับปรุงการขนส่งทางรถบรรทุกข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีปัญหาการถ่ายรถ หรือเปลี่ยนรถ ซึ่งรัฐบาลไทยทราบปัญหาเช่นกัน โดยกำลังเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบเจรจา 2 ฝ่าย คือ ไทย-พม่า ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อยุติ และบางคณะเป็นการเจรจา 3 ฝ่าย โดยมีแผนแม่บทด้านโครงข่ายถนน ทั้ง R3, R8, R9, R12 ในการเชื่อมการขนส่งด้วยรถบรรทุกไว้รองรับแล้ว โดยจะเหลือในเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการและการตรวจสินค้าเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น