“พาณิชย์” ปลื้มขายข้าวสต๊อกรัฐได้อีก 1.148 ล้านตัน มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่เปิดประมูลมา 8 ครั้ง เตรียมชง นบข. เคาะขาย เผยเอกชนต้องการข้าวหลังข้าวเปลือกหมด ภัยแล้งกระทบผลผลิต คาดทั้งปีส่งออกทะลุ 10 ล้านตันแน่ เตรียมเปิดประมูลอีกครั้งภายในเดือนนี้ ระบุขายข้าวรวม 8 ครั้งได้เงิน 4.09 หมื่นล้านบาท แต่ขาดทุนกว่า 5.22 หมื่นล้านบาท
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การเปิดประมูลสต๊อกข้าวสารรัฐบาลแบบยกคลัง ครั้งที่ 4/2558 มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 62 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคา 55 ราย ใน 105 คลัง โดยผู้เสนอราคาผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ (ฟลอร์แวลู) จำนวน 33 ราย ใน 103 คลัง ปริมาณรวม 1.148 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 83% ของปริมาณข้าวที่นำออกมาเปิดประมูลทั้งหมด 1.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 11,079 ล้านบาท ซึ่งข้าวที่ขายได้มากสุด คือ ขาวข้าว 5% ปริมาณ 9.9 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 71% ของปริมาณข้าวที่เปิดประมูล โดยกรมฯ จะนำผลการเปิดประมูลเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติในวันนี้ (8 ก.ค.)
ทั้งนี้ การประมูลครั้งนี้ถือได้ว่าทำสถิติขายข้าวได้มากที่สุดนับตั้งแต่เปิดประมูลมาทั้งหมด 8 ครั้ง นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ โดยรวมทั้ง 8 ครั้งสามารถขายได้ปริมาณทั้งสิ้น 3.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่ขายได้ 4.09 หมื่นล้านบาท
“การขายข้าวครั้งนี้ได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ และขายได้มากที่สุดนับตั้งแต่เปิดประมูลมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการข้าวในตลาดยังมีสูงขึ้น จากการที่ข้าวเปลือกในท้องตลาดไม่มี และปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกที่ลดลง โดยกรมฯ มั่นใจว่าจากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น และจะทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10 ล้านตันอย่างแน่นอน เพราะผ่านมา 6 เดือนส่งออกได้แล้ว 4.6 ล้านตัน” นางดวงพรกล่าว
นางดวงพรกล่าวว่า สำหรับสต๊อกข้าวสารในปัจจุบันมีปริมาณ 15.46 ล้านตัน โดยหักการประมูลครั้งนี้ออกไป 1.148 ล้านตัน จะเหลือข้าวในสต๊อกประมาณ 14.31 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเสียเป็นฝุ่นผง 1.29 ล้านตัน ข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นข้าวเกรดซีที่อยู่ในโกดังเดียวกัน 1.3 ล้านตัน ที่เหลืออีกประมาณ 3 ล้านตันมีข้าวเกรดเอและบีปนอยู่ด้วย ทำให้เหลือข้าวในสต๊อกที่เป็นเกรดพี เอ และบี อีกประมาณ 8.4 ล้านตัน ที่จะต้องมีการคัดแยกก่อนที่จะเอามาเปิดประมูล โดยคาดว่าข้าวที่เหลือทั้งหมดจะประมูลขายได้หมดประมาณ 2 ปี
ส่วนการเปิดประมูลข้าวรอบต่อไป กรมฯ กำลังรอเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บหลักฐานและสรุปผลมาให้ก่อน หากสรุปเป็นข้าวเกรดไหนมาก่อนก็จะนำมาเปิดประมูลก่อน ซึ่งน่าจะทำได้อีกครั้งภายในเดือนนี้ โดยเบื้องต้นมีข้าวเกรดซีที่ตำรวจสรุปมาแล้วประมาณ 3-4 แสนตัน และในระหว่างนี้กรมฯ จะหารือกับคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกำหนดราคากลางในการเปิดประมูลข้าวในส่วนของข้าวเสียและข้าวเกรดซีที่ต้องระบายออกไปทำพลังงานไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรมให้ได้ก่อน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การอนุมัติขายข้าว 1.148 ล้านตัน มูลค่ารวม 1.10 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยขายได้ราคาประมาณตันละ 1 หมื่นบาท หากคิดจากต้นทุนรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท หรือข้าวสารตันละ 2.4 หมื่นบาท การขายข้าวในครั้งนี้จะขาดทุนประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท หากรวม 8 ครั้งที่มียอดขายข้าวปริมาณ 3.88 ล้านตัน มูลค่า 4.09 หมื่นล้านบาท จะขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำประมาณ 5.22 หมื่นล้านบาท โดยยอดขาดทุนคิดจากต้นทุนรับจำนำอย่างเดียว ยังไม่รวมค่าบริหารจัดการข้าว