xs
xsm
sm
md
lg

ลูกค้าบ่นรสชาติอาหารไทยเพี้ยน “ฉัตรชัย” สั่งทูตพาณิชย์เรียกเจ้าของในต่างแดนหารือแก้ไขด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ฉัตรชัย” สั่งทูตพาณิชย์แก้ปัญหารสชาติอาหารไทยในต่างแดนเพี้ยน จนลูกค้าบ่นอุบ กินในไทยกับบ้านตัวเองไม่เหมือนกัน ขีดเส้น 6 เดือนต้องเห็นผลในทางปฏิบัติ ขอให้เชิญเจ้าของร้านหารือรักษามาตรฐาน ดันตั้งชมรมรวมกลุ่มนำเข้าวัตถุดิบ ช่วยลดต้นทุน และแก้ปัญหาขาดแคลน พร้อมขอให้ตรวจร้านที่เคยได้เครื่องหมายไทยซีเล็กท์ มาตรฐานยังดีอยู่หรือไม่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำการเชิญเจ้าของร้านอาหารไทยในประเทศที่ตัวเองดูแลอยู่มาร่วมหามาตรการในการดูแลมาตรฐาน และรสชาติอาหารไทยในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันหลายๆ ร้านมีรสชาติอาหารไม่เป็นไปตามรสชาติดั้งเดิมของไทย จนลูกค้าต่างชาติจำนวนมากระบุว่า อาหารไม่อร่อยเหมือนกับที่รับประทานในประเทศไทย ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้จะกระทบต่อชื่อเสียงของอาหารไทย โดยในเบื้องต้น กำหนดให้เห็นผลในทางปฏิบัติภายใน 6 เดือน

“ปัจจุบันพบว่า ร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้านมีเจ้าของที่เป็นคนต่างชาติ และพ่อครัว แม่ครัวไม่ใช่คนไทย อาจเป็นพ่อครัวแม่ครัวจากเวียดนาม จีน และชาติอื่นๆ ซึ่งมีความเข้าใจรสชาติและวัฒนธรรมอาหารไทยไม่มาก และบางร้านยังต้องการลดต้นทุนจึงใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ไม่ใช่วัตถุดิบจากไทย ทำให้รสชาติอาหารไทยเพี้ยนไปหมด คนต่างชาติที่เคยมากินที่เมืองไทย พอกลับไปกินที่บ้านตัวเองก็บอกว่าไม่อร่อย จึงต้องเร่งแก้ไข” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

สำหรับแนวทางในการรักษามาตรฐานอาหารไทย ทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศจะต้องหารือกับเจ้าของร้านอาหารไทยทั้งที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และมีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ ในการผลักดันให้มีการจัดตั้งชมรมในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาและรักษามาตรฐานอาหารไทยไว้ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยให้ได้มากที่สุด ทั้งรสชาติ และลักษณะหน้าตาของอาหาร รวมทั้งการให้บริการ การตกแต่งร้าน เป็นต้น

ส่วนในด้านวัตถุดิบหากมีการรวมกลุ่มกันสั่งซื้อเป็นล็อตใหญ่ก็จะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้า และป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบได้ และขอให้สำรวจด้วยว่า ในประเทศที่ประจำอยู่ วัตถุดิบในการประกอบอาหารใดที่มีปัญหาไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะติดขัดกฎระเบียบ กระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเจรจาเพื่อหาทางผ่อนคลายกฎระเบียบต่อไป เพราะอาหารไทยไม่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ หากใช้ทดแทนก็จะทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ยังได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกผู้ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ไทยซีเล็กท์ ให้รื้อฟื้นมาตรฐานร้านอาหารไทยที่ได้รับมาตรฐานไทยซีเล็กท์ เนื่องจากบางร้านอาจได้รับตราสัญลักษณ์ไปแล้ว แต่ไม่ได้สนใจ หรือละเลยที่จะรักษามาตรฐานร้านอาหารไทยเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ต้องไปทำความเข้าใจต่อผู้ประกอบการ และผลักดันให้การทำร้านอาหารเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาคะแนนในการมอบตราสัญลักษณ์ไทยซีเล็กท์ ในส่วนของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะต้องมีรสขาติความเป็นไทย ใช้วัตถุดิบ และส่วนผสมและเครื่องปรุงที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ รายการอาหารต้องมีรายการอาหารไทยไม่น้อยกว่า 60% หรือ 80% มีพ่อครัว แม่ครัวผ่านการอบรมหลักสูตรการปรุงอาหารไทย วัตถุดิบสด สะอาด ถูกต้องตามตำรับ จัดอาหารสวยงามตามรูปแบบไทย รวมทั้งสภาพร้านโดยรวมจะต้องสะอาดทั้งโต๊ะ พื้น ห้องน้ำ บริเวณร้าน เป็นต้น

ในปี 2558 มีร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 13,948 ราย ได้รับเครื่องหมายไทยซีเล็กท์ จำนวน 1,503 ราย แบ่งเป็นยุโรป 360 ราย สหรัฐฯ 694 ราย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 51 ราย อาเซียน 38 ราย เอเชีย 269 ราย และโอเชียเนีย 61 ราย โดยจะมีการพิจารณาต่ออายุตราสัญลักษณ์ทุก 3 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น