xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.ตั้งโต๊ะแจงประมูล NGV โปร่งใส ขู่เบสท์รินฯ หยุดให้ข่าวลบ ขอ 2 สัปดาห์เซ็น ช.ทวีฯ ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ขสมก.ยันประมูลซื้อรถเมล์ NGV 489 คันถูกต้องโปร่งใส หารือฝ่ายกฎหมายเตรียมพร้อมหาก “เบสท์รินกรุ๊ป” ให้ข่าวที่เป็นลบกระทบภาพลักษณ์ ขสมก.อีก “ปราณี” ติงผู้สังเกตการณ์ที่ลาออกได้ทำหน้าที่ตามมติ ครม.หรือไม่ ยอมรับ คตช.และ สตง.เข้ามาขอข้อมูลซึ่งชี้แจงไปหมดแล้ว มั่นใจรับมอบรถตามแผน 4 ล็อตครบใน 90 วัน ไม่ทันปรับ 1 หมื่นบาท/คัน/วัน ริบแบงก์การันตี พร้อมเตรียมตรวจโรงงานประกอบที่ขอนแก่น 22 มิ.ย.นี้



นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวการร้องเรียน โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 489 คัน และมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นลาออก ว่า ขสมก.ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน ด้วยความโปร่งใส โดยใช้ข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง และทำตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งการที่บริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีร้องเรียนนั้น ขสมก.ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด และยืนยันว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการประกวดราคาได้ แต่ถือเป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ของ ขสมก. ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะ ขสมก.เสียหาย หากทางเบสท์รินฯ ยังไม่หยุดให้ข่าวทางลบให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอีกอาจจะต้องเรียกมาคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน หรืออาจจะต้องพึ่งกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่ง ขสมก.ไม่ต้องการฟ้องร้องใคร

ทั้งนี้ กรณีที่เบสท์รินฯ ร้องเรียนว่ายื่นประมูล 2 ครั้งไม่ผ่านคุณสมบัตินั้น ขสมก.ได้แจ้งให้บริษัททราบและได้ยอมรับว่าเอกสารไม่เรียบร้อยตรงกันแล้ว ส่วนการที่กลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ยื่นประมูลครั้งเดียว ครั้งที่ 3 แล้วชนะเพราะบริษัทมีคุณสมบัติตรงตาม TOR และมีสิทธิ์เสนอราคา เมื่อเคาะราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ก็เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จึงได้รับสิทธิ์เจรจาต่อรองค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6-10 ซึ่งเสนอที่ 1,850 บาทต่อคันต่อวันและต่อรองลงมาที่ราคากลาง 1,636 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนทางเบสท์ริน กรุ๊ป เสนอค่าซ่อมปีที่ 6-10 สูงถึง 4,000 บาทต่อคันต่อวัน จึงไม่สมเหตุสมผลที่เบสท์รินฯจะร้องเรียน

ส่วนกรณีผู้สังเกตการณ์ลาออกรวมถึงเรื่องที่ได้ไปร้องเรียนว่ากระบวนการจัดซื้อไม่โปร่งใสไม่สบายใจเป็นเหตุให้ลาออกนั้น ขสมก.ไม่ทราบเป็นทางการ ยืนยันว่าในการดำเนินการทุกขั้นตอนผู้สังเกตการณ์เข้ามาสังเกตการณ์ทุกครั้งที่มีการประชุม ทั้งการจัดซื้อและการเจรจา และ ขสมก.ไม่ได้รับข้อสังเกตจากผู้สังเกตกาณ์ว่ากระบวนการนั้นๆ มีการดำเนินการที่ส่อไปทางทุจริตตามที่เป็นข่าว และด้วยหน้าที่และบทบาทของผู้สังเกตการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. กำหนดว่า กรณีผู้สังเกตการณ์พบเห็นว่าดำเนินการมีการกระทำส่อไปทางไม่สุจริต หรือมีแนวโน้มส่อไปทางไม่สุจริต ผู้สังเกตการณ์ต้องแจ้งให้เจ้าของหน่วยงานทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากหัวหน้าหน่วยงานรับแจ้งแล้วไม่ดำเนินการในระยะเวลา ผู้สังเกตการณ์ถึงจะนำเรื่องเหล่านั้นออกสู่สาธารณะได้ หรือร้องไปที่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ดีเอสไอ หรือ สตง. ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ตามที่ ครม.กำหนด ขสมก.ก็มองได้ว่าผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.หรือไม่

สำหรับกรณีเลี่ยงภาษีนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันแทนการประกอบในประเทศตามที่ยื่นไว้ในการประมูลนั้น เป็นเรื่องระหว่างบริษัท ช.ทวีฯ กับกรมศุลกากร ถ้าทำไม่ถูกต้องคงไม่สามารถนำรถเข้ามาได้ และส่งมอบรถให้ไม่ได้ บริษัทจะต้องเสียค่าปรับ 10,000 บาทต่อคันต่อวัน และถูกริบเงินค้ำประกัน เชื่อว่าทางบริษัท ช.ทวีฯ คงไม่กล้าเสี่ยงกับการเสียชื่อ อีกทั้งในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ขสมก.จะเดินทางไปดูโรงงานประกอบจังหวัดขอนแก่นที่บริษัทเสนอไว้ด้วย

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV ด้วยนั้น นางปราณีกล่าวว่าไม่ทราบ แต่ที่ผ่านมา คตช.ได้เข้ามาขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคา ซึ่ง ขสมก.ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว รวมถึงทาง สตง.ได้เข้ามาขอดูเอกสารเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะสามารถลงนามสัญญากับบริษัท ช.ทวีฯ ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้แน่นอน โดยขณะนี้รออัยการตรวจร่างสัญญาการซ่อมบำรุงปีที่ 6-10 ก่อนเพื่อลงนามพร้อมกับสัญญาจัดซื้อรถที่อัยการตรวจร่างสัญญาเรียบร้อยแล้ว และรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.แต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบใช้เวลา 7 วันเพื่อความโปร่งใส

โดยหลังลงนามสัญญาตามเงื่อนไขกำหนดให้บริษัท ช.ทวีฯ ต้องส่งมอบรถ รวม 4 ล็อต โดยล็อตแรกจำนวน 50 คันภายใน 60 วันหลังลงนามสัญญา ล็อตที่ 2 จำนวน 100 คัน ใน 70 วัน ล็อตที่ 3 จำนวน 150 คัน ภายใน 80 วัน และล็อตที่ 4 จำนวน 189 คัน ภายใน 90 วัน รวมทั้งหมด 489 คัน โดยรถใหม่ที่จะนำมาวิ่งใน 20 เส้นทาง พร้อมกันนี้ ขสมก.ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) ในการศึกษาในการดำเนินการติดตั้งระบบ GPS ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนนี้จะสามารถใช้งานได้พร้อมกับรถใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น