xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” รื้อ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ชูศูนย์เทคโนโลยีลบศูนย์ฯ ไอที ทุ่ม 2 หมื่นล้านลุยโรงแรม-รีเทล-ออฟฟิศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ณภัทร เจริญกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ [แฟ้มภาพ]
“ทีซีซี” ยกเครื่องครั้งใหญ่ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ลบภาพศูนย์ฯ ไอที แจ้งเกิดศูนย์เทคโนโลยีแทน ทุ่มงบรวม 460 ล้านบาทรื้อใหม่ 3 สาขา นำร่องประตูน้ำที่เปิดมานานกว่า 30 ปี คาดเสร็จสมบูรณ์ 3 สาขาปีหน้า ยันไม่มีแผนเพิ่มสาขาตามแผนงานของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ปรับโครงสร้าง “ทีซีซี” แยก 2 ธุรกิจชัดเจนลุยกลุ่มโรงแรม และกลุ่มรีเทลกับออฟฟิศ ทุ่มงบ 2 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี

นายณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มบริษัท “ทีซีซี แลนด์” ในเครือของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ทำการปรับโครงสร้างบริหารงานใหม่โดยตั้ง บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อแยกการบริหารออกเป็น 2 ส่วน คือ “เลเชอร์” (ดูแลธุรกิจโรงแรมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชน “แมริออท”) กับ “เอสเตท” (ดูแลธุรกิจรีเทลกับออฟฟิศ) โดยมีตนเป็นผู้ดูแลในส่วนของ “เอสเตท” เมื่อไม่นานนี้ โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากโรงแรม 40% ออฟฟิศ 30% และรีเทล 30%

ล่าสุดในส่วนของโครงการ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ที่บริษัทฯ เป็นผู้ดูแลนั้น ได้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์ครั้งใหญ่หลังจากที่ได้เปิดดำเนินกิจการมานานกว่า 30 ปีแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะยกเลิกความเป็นศูนย์ฯ ไอที (Information Technology) เพื่อปรับเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีข้อมูลเท่านั้นแต่จะเป็นศูนย์ฯ ที่มากกว่าไอที

จากอดีตที่ตลาดอุปกรณ์ไอทีเฟื่องฟูอย่างมากแต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและแม้ความต้องการสินค้าด้านนี้ยังมีอยู่แต่ภาพรวมของตลาดไม่ได้เติบโตมากนัก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเมื่อสินค้าด้านไอทีเสียมักจะไม่ซ่อมแต่จะซื้อใหม่แทน ผู้ประกอบการด้านไอทีหลายรายจึงต้องปรับตัว ส่งผลให้พื้นที่ไอทีในหลายๆ ห้างมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน

“เมื่อเราปรับเป็นศูนย์เทคโนโลยี ตรงนั้นมันจะดูกว้าง เพราะไลฟ์สไตล์คนเราทุกวันนี้อยู่ติดกับเทคโนโลยีทั้งนั้น ทุกอย่างรอบตัวอะไรก็แล้วแต่ที่มีเทคโนโลยีเราจะนำมาเสนอในศูนย์ฯ นี้ทั้งหมด ซึ่งมองแล้วยังไม่มีศูนย์ฯ ไหนที่มีคอนเซ็ปต์แบบนี้ชัดเจน นอกจากนั้นเรายังจะปรับทุกอย่าง ทั้งการจัดการ ภาพลักษณ์ สินค้า และบริการ ตลอดจนที่จอดรถให้มีความทันสมัยและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมที่ค่อนข้างจะเก่ามาก”
“พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” สาขาประตูน้ำ จะเริ่มปรับปรุงใหม่ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2559 [ภาพจากอินเทอร์เน็ต]
ทั้งนี้ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” มี 3 สาขา คือ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ มีพื้นที่ 3.5 หมื่นตารางเมตร อัตราการใช้พื้นที่ประมาณ 90% โดยยังมีผู้เช่าเก่าประมาณ 70% จากเดิมเป็นศูนย์สินค้าไอที 40% ธุรกิจบริการ 40% และศูนย์พระเครื่องอีก 20% เริ่มทยอยปรับปรุงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2559 โดยจะใช้คอนเซ็ปต์ดังกล่าวนี้นำไปปรับปรุงอีก 2 สาขา คือที่ งามวงศ์วาน พื้นที่ 4 หมื่นตารางเมตร และสาขาบางกะปิ พื้นที่ 7 พันตารางเมตร โดยอาจใช้งบประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อ 1 สาขา รวมเป็น 40-60 ล้านบาท ตั้งเป้าจะปรับปรุงทั้ง 3 สาขาให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2559

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่มีแผนที่จะขยายสาขาใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” โดยจะเน้นใน 3 โครงการเดิมก่อน ส่วนอนาคตจะมีการวางแผนใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าหลังจากการปรับเปลี่ยนเสร็จแล้วจะมีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 5% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 1 พันล้านบาท ซึ่งมีรายได้หลักจากค่าเช่าพื้นที่ และค่าจัดอีเวนต์

ทั้งนี้ การปรับใหญ่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานระยะยาวของกลุ่มบริษัททีซีซีแลนด์ ที่วางเป้าหมาย 5-7 ปีตั้งแต่ปี 2558 จะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 1.5 หมื่นล้านบาท และธุรกิจรีเทลกับออฟฟิศ 5 พันล้านบาท

สำหรับธุรกิจรีเทลกับออฟฟิศนั้น นายณภัทรกล่าวว่า จากเดิมดูแลเพียงโครงการเดียวคือ “เอเชียทีค” แต่หลังปรับโครงสร้างใหม่ขณะนี้ต้องรับผิดชอบ 6 แบรนด์ คือ เอเชียทีค, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า, เกตเวย์ เอกมัย, เกตเวย์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ ออฟ สยามสแควร์ หรือดิจิตอล เกตเวย์, บ็อกซ์ สเปซ และโอพี ศูนย์ด้านศิลปะ รวมทั้งหมดมี 13 สาขา โดยมี 2 แบรนด์ที่คงไม่ได้ขยายคือ “เกตเวย์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ ออฟ สยามสแควร์” เพราะเป็นชื่อลิขสิทธิ์ของทางทรัพย์สินจุฬาฯ และ “โอพี” ที่ตั้งใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล ขณะที่อีก 4 แบรนด์มีแผนขยายต่อเนื่อง ส่วนจะมีอีกแบรนด์ใหม่หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต

สำหรับ “เอเชียทีค” สาขาแรกที่ ถ.เจริญกรุง มี 4 เฟส เพิ่งเปิดบริการเฟสแรก จะขยายเฟสที่ 2, 3 และ 4 รวมถึงฝั่ง ถ.เจริญนครด้วย และจะมีโรงแรมและบริการอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งจะมีสาขาใหม่คือ “เอเชียทีค ไพรม์” ที่พัทยา จะใช้พื้นที่เล็กลงแต่มีความเป็นพรีเมียมมากกว่า ลงทุน 500 ล้านบาท พื้นที่ 2.5 หมื่นตารางเมตร เริ่มสร้างปี 2559 และที่หัวหิน ลงทุน 500 ล้านบาท พื้นที่ 15 ไร่ เริ่มก่อสร้างปี 2561 และโครงการ “เอเชียทีค” ขนาดใหญ่ลักษณะเดียวกับ ถ.เจริญกรุง พื้นที่ 20 ไร่ ลงทุน 1.2 พันล้านบาท ที่ จ.เชียงใหม่

ส่วนแบรนด์ “เกตเวย์” ได้ทำการปรับปรุง “เกตเวย์ เอกมัย” ให้เป็นคอนเซ็ปต์ “คอมมูนิตี ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์” และเพิ่มบริการใหม่เช่น “ไฟลต์ ซีมูเลเตอร์” และ “เมืองหิมะ” คาดว่าจะปรับเสร็จในเดือน ก.ย.ศกนี้ ซึ่งขณะนี้ก็มีปริมาณลูกค้าเข้าศูนย์เพิ่มเป็น 1.8 หมื่นคนต่อวันจากเดิม 9 พันคนต่อวัน ตั้งเป้ารายได้ 360 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 120 ล้านบาทต่อปี และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 1 สาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งยังไม่มีธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “เซ็นทรัล” หรือ “เดอะมอลล์” เปิดบริการในย่านนั้น

นอกนั้นคือแบรนด์ “บ็อกซ์ สเปซ” รูปแบบคล้ายสถานที่แฮงก์เอาต์ จะมีร้านอาหารเปิดบริการ สาขาแรกอยูที่ย่านรัชโยธิน ลงทุน 150 ล้านบาท และเตรียมที่จะเปิดอีก 1 สาขาในปี 2560 บริเวณ ถ.สรรพาวุธ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมทุนกับกลุ่มที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกัน

ทั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ มีพื้นที่รีเทลรวม 2.2 แสนตารางเมตร และมีรายได้รวมประมาณ 3 พันล้านบาทภายใน 3 ปีจากนี้ จากเดิมที่มีรายได้ 300 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะเป็น 900 ล้านบาทในปี 2558




กำลังโหลดความคิดเห็น