“กฟผ.” เผยยอดใช้ไฟ 5 เดือนแรกโต 2.1% ซึ่งมีอัตราการเติบโตไม่สูงมากนักตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คาดทั้งปีโตไม่ถึง 4% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ย้ำไทยยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินนำร่อง จ.กระบี่
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าใน 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) สะสมอยู่ที่ระดับ 74,636 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1,556 ล้านหน่วย หรือคิดเป็น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งการใช้ไฟอยู่ระดับ 73,042 ล้านหน่วย ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของการใช้ไฟในปีนี้ทั้งปีที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเติบโต 4% ตามทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตระดับ 3-4% ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะเติบโตได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
“การใช้ไฟ ม.ค. 58 โต 4.7% ขณะที่ พ.ค. โต 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็จะเห็นว่าการใช้ไฟฟ้ารายเดือนลดลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจซึ่งก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโต 3-4% แต่ขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและอาจปรับการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจลดลงอีกครั้ง ดังนั้นการใช้ไฟก็คงจะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ก็ยังหวังว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นก็จะทำให้การใช้ไฟขยับเพิ่มได้ แต่เป้าหมายที่วางไว้โต 4% ถ้าดูตามทิศทางครึ่งปีแรกคงอาจไม่ถึงเป้า” นายสหรัฐกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่การเติบโตของการใช้ไฟฟ้ายังคงมีต่อเนื่อง และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ที่เป็นแผนระยะยาว 21 ปี 2558-2579 ก็ได้กำหนดสมดุลของการคำนวณปัจจัยต่างๆ ไว้รองรับทั้งการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงการสร้างสมดุลเชื้อเพลิงเพื่อรักษาระดับค่าไฟฟ้า ดังนั้นแผนดังกล่าวจึงกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจำนวน 9 แห่ง กำลังการผลิต 7,300 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุดการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จ.กระบี่ ซึ่ง กฟผ.ดำเนินการเพื่อนำเข้าสู่ระบบปี 2562 ขั้นตอนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือครบ 3 ครั้งแล้ว
สำหรับขั้นตอนล่าสุด ได้นำความคิดเห็นประชาชนปรับปรุงและทำเรื่องส่งไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งทาง คชก.ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมมาถึง 400 ข้อ ซึ่ง กฟผ.กำลังรวบรวมรายละเอียดเพื่อที่จะตอบคำถามทั้งหมดส่งกลับไปใหม่เร็วๆ นี้ ดังนั้นจะเห็นว่าขั้นตอนต่างๆ มีความเข้มงวดมาก ซึ่งหลังจากนี้ กฟผ.เองก็มั่นใจว่าขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน หรือภายใน ธ.ค.นี้ก็จะผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้
“กฟผ.เองก็ได้พยายามชี้แจงประชาชนให้เข้าใจทุกๆ ประเด็นที่สงสัยหรือกังวล และขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงที่เราอิงก๊าซฯ มากไป และหากดูตามแผนถ่านหินมีการผลิตเพียง 7,300 เมกะวัตต์ แต่พลังงานทดแทนโดยรวมมีทั้งหมดถึง19,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีสูงถึง 6,000 เมกะวัตต์ทั้งที่ค่าไฟฟ้าแพงกว่าถ่านหิน ซึ่งแผนพีดีพีค่าไฟเฉลี่ย 21 ปีจะอยู่ที่ 4.58 บาทต่อหน่วย หากถ่านหินไม่เกิดเลยแล้วใช้ก๊าซฯ นำเข้าที่แพงกว่าค่าไฟเฉลี่ยก็จะสูงขึ้นกว่านี้” นายสหรัฐกล่าว