xs
xsm
sm
md
lg

คค.เร่งทำแผนแม่บทขนส่งทางอากาศ 10 ปี บูรณาการแก้น่านฟ้าแน่น-อุตฯ การบินโตก้าวกระโดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เตรียมจ้างที่ปรึกษาทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ระยะ 10 ปี บูรณาการแผนด้านการบินทุกหน่วยงานให้เป็นทิศทางเดียวกันรองรับปริมาณการจราจรที่เติบโต เล็งใช้งบ ทอท. 60 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 1 ปี พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเร่งด่วนน่านฟ้าแออัด

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย วานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ระยะเวลา 10 ปี ( 2560-2570) โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้หารือร่วมกับหน่วยงานทางอากาศที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้วเห็นว่าควรนำแผนพัฒนาของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการให้อยู่ในแผนเดียวกันเพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ใช้เวลาศึกษา 1 ปี โดยจะขอใช้งบประมาณของ ทอท. วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ จะมี 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2. การพัฒนาระบบท่าอากาศยาน 3. การพัฒนาด้านบุคลากร 4. การพัฒนาด้านธุรกิจการบิน 5. การพัฒนาการบริหารจราจรทางอากาศ ซึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์จะมีแผนหลักการเดินอากาศชาติ ซึ่งจะมีกลุ่มการพัฒนาระบบท่าอากาศยาน เช่น การวางบทบาทของสนามบินต่างๆ ให้เชื่อมโยงกัน จะวางสถานะ ตำแหน่งของสนามบินนั้นๆ ให้เป็นอย่างไร เป็นต้น, กลุ่มการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ จะเป็นเรื่องนิคมอุตสาหกรรมการบิน ธุรกิจการบินต่างๆ รวมถึงบุคลากรด้านการบินด้วย และกลุ่มการจราจรทางอากาศ

“ในอดีตเคยมีแผนแม่บทด้านการขนส่งทางอากาศ แต่ไม่ได้ทำแผนต่อเนื่องและแผนค่อนข้างล้าสมัยแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ทั้งรูปแบบ เทคโนโลยี ความแออัดของน่านฟ้า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นในทุกด้านที่ควรจะทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศใหม่ เพื่อวางแผนในภาพรวมทุกองค์ประกอบ ซึ่งปกติแต่ละหน่วยงานจะมีแผนของตัวเองและไม่เคยนำมารวมกัน จึงทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหา เช่น ทอท.วางแผนในการพัฒนาปรับปรุงขยายขีดความสามารถของสนามบิน แต่ทางวิทยุการบินฯ ทำแผนการจราจรรองรับไม่ทันเพราะไม่ทราบแผนขยายสนามบิน หรือจำนวนผู้โดยสาร จำนวนสินค้า ปริมาณจราจรทางอากาศ ประเภทของอากาศยาน เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก จะไม่เกิดการลงทุนแบบสูญเปล่า เพราะวางบทบาทการลงทุนที่สอดคล้องกัน”

นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการจราจรทางอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการแก้ไขด้วย ดังนั้นในระหว่างรอผลศึกษาแผนแม่บทแล้วเสร็จในช่วงปี 58-59 จะเสนอตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนแบบคู่ขนาน เพื่อช่วย บวท.ในการแก้ปัญหาด้านจราจรทางอากาศที่น่านฟ้ามีความแออัด ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการน่านฟ้าระหว่างด้านการพาณิชย์กับความมั่นคง

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานจะมีแผนของตัวเอง ซึ่งทิศทาง ระยะเวลา จะกำหนดเอง เป้าหมายแตกต่างกัน การบูรณาการร่วมกันจะมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวออกมา ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันกำกับการศึกษาเพื่อให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยแผนแม่บทจะกำหนดหลักการว่า สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมืองควรมีเป้าหมายปริมาณการจราจรสูงสุดเท่าไร ในส่วนของ บวท.ในฐานะผู้บริหารการจัดการจราจรทางอากาศน่านฟ้าไทยจะสามารถจัดการรองรับได้แค่ไหน ซึ่งปัจจุบันปริมาณจราจรทางอากาศมีประมาณ 6 แสนเที่ยวบินต่อปี ในอนาคตอันใกล้จะถึง 1 ล้านเที่ยวบิน ดังนั้น ในการจัดเส้นทางการขึ้นลง ความพร้อมในห้วงอากาศและความพร้อมของสนามบิน และความต้องการนักบินและบุคลากรด้านการบินในอนาคต เพื่อให้ สบพ. หรือโรงเรียนด้านการบินของเอกชนเตรียมแผนการผลิตบุคลากรที่สอดคล้อง

“ปัจจุบันน่านฟ้าไทยแออัด มีปริมาณจราจรทางอากาศที่ 6 แสนเที่ยวบินต่อปี ซึ่งในห้วงอากาศจะมีพื้นที่ด้านความมั่นคง 48% ด้านพาณิชย์ 52% หากเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษที่มีพื้นที่น่านฟ้าใกล้เคียงกับไทย แต่อังกฤษสามารถรองรับได้ถึง 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ซึ่งหากไทยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นอาจจะรับได้เพิ่มเป็น 1.4 ล้านเที่ยวบิน ดังนั้นจะต้องดูในมุมของข้อกฎหมาย การใช้พื้นที่ห้วงอากาศร่วมกันระหว่างด้านพาณิชย์กับความมั่นคง โดยบริหารจัดการแบบยืดหยุ่น เป็นต้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น