ปตท.ลุ้นรัฐออกมาตรการเพิ่มเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกในไทย หลังบีโอไอไฟเขียวมาตรการลดต้นทุนและส่งเสริมการลงทุน เชื่อว่าเนเชอร์เวิร์คส์ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 เร็วขึ้นถ้ามีความชัดเจนว่าจะลดค่าไฟและก๊าซฯ ให้อุตสาหกรรมนี้เท่าใด
นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเติมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการลดต้นทุนการผลิต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกในไทยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปพิจารณาเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยยึดราคาต้นทุน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง รวมทั้งบีโอไอมีการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศถึง 90% เป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าจะมีการผลิตวัตถุดิบในประเทศได้
ซึ่งที่ผ่านมาทาง ปตท.ได้ยื่นข้อเสนอหลายอย่างเพื่อขอให้รัฐส่งเสริมผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพขึ้นในประเทศ เช่น การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% (ซอฟต์โลน) การลดอัตราค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐจะทยอยออกมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
ก่อนหน้านี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทเนเชอร์เวิร์คส์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือพีแอลเอ ในสหรัฐฯ ซึ่งมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตพีแอลเอแห่งที่ 2 ในเอเชีย โดย ปตท.ผลักดันให้โรงงานแห่งที่ 2 นี้ตั้งในไทย เชื่อว่าหากมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการลดต้นทุนการผลิตที่บีโอไอเห็นชอบนั้นมีการประกาศแนวทางชัดเจนว่าจะลดค่าไฟและก๊าซให้อุตสาหกรรมนี้เท่าไร เชื่อว่าทางเนเชอร์เวิร์คส์ก็จะตัดสินใจลงทุนโครงการดังกล่าวในไทยได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ โครงการผลิตพีแอลเอแห่งนี้จะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเบื้องต้นจะดำเนินการเฟสแรกก่อนจะมีขนาดกำลังผลิต 7.5 หมื่นตันต่อปี เมื่อความต้องการใช้ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นก็จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดพีแอลเอจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่อไป โดยยอมรับว่าราคาพลาสติกชีวภาพแพงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 2-3 เท่า
นายชวลิตกล่าวต่อไปว่า โครงการร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น หรือ MCC ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS วงเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปีในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ภายในเร็วๆ นี้จะทดลองเดินเครื่องจักรและนำเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้ไปทดสอบเพื่อขอใบรับรองก่อนที่จะทำตลาดอย่างจริงจัง คาดว่าในต้นปีหน้าโรงงานดังกล่าวจะเดินเครื่องจักรได้เต็มที่
สำหรับการทำตลาดพลาสติกชีวภาพ PBS จะเน้นส่งออกไปต่างประเทศ โดยมีตลาดในประเทศเป็นส่วนน้อย 20-30% ของกำลังการผลิตเท่านั้น