พีทีที โกลบอลฯ เตรียมเซ็นสัญญาร่วมทุนกับเทรดเดอร์ญี่ปุ่นในไตรมาส 3 นี้ หวังผุดโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ หลังเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้พบว่า Shale Gas ราคาถูกและทำเลที่ตั้งเหมาะสม มั่นใจไตรมาส 1/59 ได้ข้อสรุปชัดเจน
นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้โครงการและมูลค่าการลงทุนภายใน 1 ปีนั้น ล่าสุดบริษัทฯ เตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นที่ชำนาญด้านเทรดดิ้งในช่วงไตรมาส 3/2558 โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% ญี่ปุ่นคาดว่าถือหุ้น 20-30% และจะสรุปแผนการลงทุนดังกล่าวชัดเจนในไตรมาส 1/2559
การดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเข้าร่วมทุนในโครงการดังกล่าวนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญด้านเทรดดิ้งในการทำตลาดในสหรัฐฯ เนื่องจากโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ นี้จะเน้นจำหน่ายเม็ดพลาสติกในตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
การตัดสินใจลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ มี Shale Gas ที่เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตปิโตรเคมีได้ โดยมีปริมาณสำรองสูง และนำมาแยกเป็นก๊าซอีเทนมีราคาที่ต่ำ สามารถแข่งขันได้ โดยบริษัทสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรเพื่อสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย โรงงานผลิตเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี และมีโรงงานต่อเนื่อง ประกอบด้วย โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE ) 7 แสนตัน/ปี โรงงานผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) 5 แสนตัน/ปี และโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ (EO) 1 แสนตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2559 และผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564
ขณะเดียวกันก็จะทำสัญญากับผู้ผลิต Shale Gas หรือผู้จัดหา Shale Gas เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต โดยจะเจรจากำหนดราคาเพดานก๊าซอีเทนเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ
นายปฏิภาณกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ตั้งโครงการใน 3 รัฐ ได้แก่ โอไฮโอ, เวสต์ เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย ในแถบมาร์เซลลัส (Marcellus) ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่ง Shale Gas ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นแถบที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในระดับสูง โดยการคัดเลือกจะพิจารณาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความได้เปรียบในด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์ และความพอเพียงของแรงงานที่มีความสามารถ เบื้องต้นเห็นว่ารัฐโอไฮโอมีความเป็นไปได้ในการตั้งโครงการดังกล่าว
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย เงินลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2558 ซึ่งเดิมเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ กับเปอร์ตามิน่า แต่ล่าสุดอาจจะดึงซาอุดิอารัมโกเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนด้วย หลังจากเปอร์ตามิน่าเลือกซาอุดิอารัมโกมาเป็นพันธมิตรปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้มีแนฟทามาต่อยอดทำปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ทั้งนี้ ทางเปอร์ตามิน่าจะเป็นผู้เจรจากับซาอุดิอารัมโกต่อไป
นายปฏิภาณกล่าวอีกว่า บริษัทได้จัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจสีเขียวที่ครบวงจร (Bio-Hub) ซึ่งจะเป็นการดำเนินธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยเตรียมนำเสนอโมเดลการลงทุน Bio-Hub ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยโมเดลนี้จะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ในอนาคต
การลงทุน Bio-Hub จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน ทั้งการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่วนแผนการสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 ในไทยของ Nature Works นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการสนับสนุนจากภาครัฐ