“กนอ.” ชงหม่อมอุ๋ยขอพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแบบเร่งด่วนเอง 3 แห่ง ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และสะเดา จ.สงขลา ส่วน จ.มุกดาหาร และ จ.ตราดหากเอกชนพร้อมก็ควรเปิดให้เอกชนดำเนินการพัฒนาเอง พร้อมเสนอแนวคิดพัฒนานิคมฯ เหล็กครบวงจรรูปแบบเมืองอุตฯ เชิงนิเวศ หรืออีโคอินดัสเตรียลทาวน์
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือนอกรอบกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมตรีด้านเศรษฐกิจ ถึงความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่งที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายพัฒนาไว้ว่าหากรัฐต้องการเร่งรัดให้ดำเนินการได้เร็ว กนอ.จึงได้เสนอแนวทางพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เร่งด่วน 3 แห่งซึ่ง กนอ.จะพัฒนาพื้นที่หลักได้แก่ เขต ศก.พิเศษชายแดนแม่สอด จ.ตาก เขต ศก.พิเศษอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และเขต ศก.พิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนเขต ศก.พิเศษ จ.มุกดาหาร และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราดนั้น เอกชนมีความพร้อมที่จะดำเนินการก็ควรให้เอกชนเป็นแกนหลักพัฒนา
“รูปแบบการลงทุน กนอ.ก็คือพัฒนาพื้นที่เองทั้งหมด และก็อาจเป็นการร่วมดำเนินการกับพันธมิตรก็ได้ ในส่วนที่เอกชนดำเนินการก็จะต้องหารือในบอร์ด กนอ.อีกครั้ง แต่ทั้งหมดนี้ก็คงจะเห็นภาพชัดเจนได้ภายในปีนี้ โดยขณะนี้พื้นที่เป็นของกรมธนารักษ์เราก็จะไปเช่าสัญญา 50 ปีแล้วจึงมาให้เอกชนเช่าพื้นที่ต่อ โดยประเมินค่าพัฒนาเบื้องต้นไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ กนอ.ต้องเตรียมไว้ขั้นต่ำ 3,400 ล้านบาท” นายวีรพงศ์กล่าว
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันตกหรือเวสเทิร์นซีบอร์ดขณะนี้ยังไม่ได้คืบหน้า แต่อดีตปี 2552 เคยมีแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรและมีเอกชนเสนอพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ภาคประชาชนเองก็มีความกังวลจึงต้องพิจารณาว่าควรทบทวนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาระยะยาวประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนานิคมฯ เหล็กครบวงจรโดยเฉพาะต้นน้ำ กนอ.จึงได้เสนอแนวคิดการพัฒนาในรูปแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรืออีโคอินดัสเตรียลทาวน์ขึ้น และต้องดูแลการพัฒนาโดยรัฐ มีการรับฟังความเห็นรอบด้าน ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังพิจารณารายละเอียดอยู่
“หากจะพัฒนานิคมฯ เหล็กจะต้องมีท่าเรือน้ำลึก ซึ่งพื้นที่เหมาะสมก็มีไม่กี่แห่ง คือ อ.ปากบารา จ.สตูล จ.นครศรีธรรมราช และ อ.บางสะพาน ส่วนตัวเห็นว่าไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมปลายน้ำในระยะยาว เพราะหากที่อื่นเขามีพร้อมปลายน้ำเราก็จะลำบากแข่งขันไม่ได้ เวียดนามกำลังมีนักลงทุนไต้หวันเข้าไปพัฒนาแล้ว” นายวีรพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการคือการที่นิคมภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งฐานการพัฒนาเกิดจากการค้นพบก๊าซฯ ในอ่าวไทย ทำให้นิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยองเป็นการวางฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน แต่อนาคตก๊าซฯ เริ่มหมด รูปแบบการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงก็อาจจะไม่เอื้อต่อการขยายฐาน ประกอบกับเชิงพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุดเองก็มีการใช้งานแล้วถึง 80% จากเดิมการตั้งโรงงานจะอยู่ใกล้ทะเลก็จะทยอยขึ้นบกขยับออกไปมากขึ้น
“ร่างประกาศผังเมืองใหม่ จ.ระยองที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นนั้นมีการอะลุ่มอล่วยพอสมควร จากเดิมที่กำหนดพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมไว้เพียง 2 หมื่นไร่จากเดิม 4 หมื่นไร่ก็มายุติที่ 3 หมื่นไร่ซึ่งน่าจะเป็นทางสายกลางให้เกิดการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มแต่ก็เน้นอุตสาหกรรมบริการ ลอจิสติกส์” นายวีรพงศ์กล่าว