xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกฯรับฟังปัญหาและติดตามความคืบหน้าเขต ศก.พิเศษตราด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตราด - ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับฟังปัญหา และติดตามความคืบหน้าเขต ศก.พิเศษตราด ผู้ว่าฯ เผยสร้างด่านสะดุดหลังมีปัญหาเขตแดน ด้านประธานหอฯ จี้ผลักดันให้ย่นระยะการเปิด

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายฐากูร ดิษฐอำนาจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางเข้าพบ นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เพื่อติดตามการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลองใหญ่ จ.ตราด มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งได้รายงานความคืบหน้าทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมในทุกด้าน รวมทั้งสะพานท่าเรือน้ำลึกขนาดกลาง นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนกว่า 10 รายแล้ว ส่วนการจัดทำผังเมืองรวมของ อ.คลองใหญ่ และของทางจังหวัดตราด จะไม่มีผลในเขตพื้นที่พิเศษ 880 ไร่

นายฐากูร กล่าวว่า ได้เดินทางไปยังพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.คลองใหญ่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่มาแล้ว ทั้งลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ประกอบการ ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายด้าน ทั้งนี้ พื้นที่ที่ คสช.ประกาศ 880 ไร่นั้น จะต้องออกเป็นโฉนด แล้วให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าไปดู และสิ่งที่ต้องเร่งดูแล คือ ปัญหาขยะตกค้าง จำนวน 5 หมื่นตัน จะดำเนินการอย่างไร ขณะที่พื้นที่ไม่มีการบุกรุกจึงไม่น่ามีปัญหาเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เรื่องของผังเมืองรวม จ.ตราด และ อ.คลองใหญ่ หากไม่กระทบต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถือว่าไม่มีปัญหา การนิคมฯ จะดำเนินการต่อไปตามแผนงาน

ด้าน นายณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญที่ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของอำเภอคลองใหญ่ คือ เรื่องการก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ที่แม้งบประมาณจะได้จากกรมศุลกากรมาแล้ว 50 ล้านบาท แต่ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ที่เขตแดนทั้งสองประเทศไม่ชัดเจน ทำให้ทางกัมพูชายังไม่เห็นด้วย แม้ได้มีการเจรจาในระดับพื้นที่ 2 จังหวัด (ตราด-เกาะกง) ที่สามารถหาข้อสรุปได้แล้ว

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การนำสินค้าทางการเกษตรผ่านแดน เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ไม่สามารถผ่านแดนได้ เนื่องจากมีประกาศจากกระทรวงว่า สินค้าเหล่านี้เข้าออกไม่ได้ ซึ่งหากจะเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะต้องมีการยกเว้น หรือยกเลิกจะได้ค้าขายกันได้ เพราะสินค้าทั้งจาก จ.พระตะบอง หรือจังหวัดอื่นๆ ในกัมพูชาต้องการนำมาผ่าน จ.ตราด เพื่อส่งออกไปยังพื้นที่อื่น หากเป็นเช่นนี้แล้วจะส่งผลกระทบต่อเขตเศรษฐกิจมาก

ขณะที่ นายอุทัย ตันชัย ประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ คือ ผู้ว่าการการนิคมฯ ประกาศพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของ จ.ตราด เป็นระยะที่ 2 และจะเสร็จในปี 2563 ทำให้นักลงทุนหลายรายที่เข้ามาพบหอการค้า และมุ่งที่จะมาลงทุนอย่างกลุ่มนักลงทุน จ.ชลบุรี สนใจจะเข้ามาลงทุนหลายด้าน แต่เมื่อมีความล่าช้าทำให้กลุ่มกลุ่มนี้ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่

ล่าสุด มีนักลงทุนอีกกลุ่มมาขายที่ดินให้จากราคา 2 ล้านบาท เหลือ 1.2 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการยืดเวลาในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจไปอีก 4 ปี อีกทั้งล่าสุด ผู้ช่วยการค้า และที่ปรึกษาการค้าจากสถานทูตมาเลเซีย เดินทางข้อมูลการลงทุนในเขตเศรษฐกิจของ จ.ตราด เพื่อสนับสนุนนักลงทุนของเขาในธุรกิจที่เขาเชี่ยวชาญ เช่น ยางพารา และสินค้าฮาลาล เรื่องเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน หากจะให้ย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1-2 ปี น่าจะทำให้นักลงทุนไม่ทิ้งพื้นที่ลงทุนไป

ซึ่งนายฐากูร กล่าวต่อที่ประชุมว่า จะรับเรื่องราวต่างๆ ไปแจ้งให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และการนิคมฯ ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างด่าน ที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะต้องเจรจาในระดับประเทศ ซึ่งขั้นตอนล่าช้า และนาน แต่หากระดับพื้นที่ตกลงกันได้น่าจะดำเนินไปได้ก่อน ส่วนเรื่องที่ประธานหอการค้ากล่าวไว้นั้น จะนำไปชี้แจ้งต่อการนิคมฯ ว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนจะลงทุนในพื้นที่นอกเขตพื้นที่ 880 ไร่ ก็น่าจะดำเนินการได้ เพราะสิทธิประโยชน์จะได้รับเหมือนกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นวัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ส่วนในพื้นที่ 880 ไร่นั้น เป็นเรื่องที่การนิคมฯ ขอไว้เพื่อสนับสนุนเท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น