xs
xsm
sm
md
lg

“คนใต้ต้องอ่าน!” ยก “มาบตาพุด” มาไว้ที่ “สงขลา” แผนพัฒนาในถ้วยยาพิษที่รัฐปกปิดไม่ให้ชาวบ้านรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคประชาสังคมภาคใต้ แพร่เอกสารสำคัญ เผยแผนภาครัฐมุ่งผลักดันให้ภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักลักษณะเดียวกับมาบตาพุด จ.ระยอง เล็งขยายท่าเรือน้ำลึก พร้อมเส้นทางขนส่งพลังงานเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย พบศูนย์กลางอยู่ที่ จ.สงขลา ผุดโรงแยกก๊าซ-โรงไฟฟ้ารองรับเรียบร้อยแล้ว ท้วงคนสงขลาต้องกำหนดอนาคตของตนเอง อัดภาครัฐส่อตั้งใจปกปิดข้อมูลต่อประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชาสังคมภาคใต้ได้เผยแพร่เอกสาร “สงขลา ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ” เป็นการรวบรวมข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังผลักดันลงมาในพื้นที่ภาคใต้ โดยแต่ละโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างแยกส่วนกันดำเนินการในหลายพื้นที่ของ จ.สตูล และ จ.สงขลา มีโครงการขนาดใหญ่ 7 โครงการที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น

ซึ่งเมื่อนำข้อมูลของโครงการมาประกอบเข้าเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน จึงได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ภาครัฐกำลังจะพลิกโฉมหน้าของภาคใต้จากเมืองเกษตรกรรมพึ่งพาตนเองไปสู่เมืองอุตสาหกรรมหนักที่จะมีขนาดใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งมาก่อนแล้วบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

แต่ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของภาครัฐพบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แม้นิคมอุตสาหกรรมจะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน กลับพบว่าเกิดปัญหามลพิษตามมารอบด้าน ทำให้ประชาชนซึ่งแต่เดิมมีวิถีชีวิตสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีอยู่แล้ว กลับต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังจะหมดอายุลงในไม่ช้านี้

โดยที่ภาครัฐร่วม กับนายทุนกำลังวางแผนเคลื่อนย้ายฐานอุตสาหกรรมดังกล่าวลงมาไว้ในพื้นที่ภาคใต้ ศูนย์กลางอยู่ที่ จ.สงขลา ดำเนินการศึกษาวางแผนโครงการแบบแยกออกเป็นส่วนๆ แต่เมื่อนำผังโครงการมารวมกันกลับพบว่า โครงการที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่าไม่มีเกี่ยวข้องกัน กลับรองรับสนับสนุนเป็นยุทธศาสตร์เดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือ ภาครัฐกำลังจะยกมาบตาพุด มาไว้ที่ จ.สงขลา และขยายต่อไปจนครอบคลุมทั้งภาคใต้

คาดการณ์ว่า อายุของนิคมอุตสาหกรรมมีอายุการใช้งานไม่เกิน 50 ปี หากภาครัฐเริ่มโครงการได้นับตั้งแต่วันนี้ เท่ากับว่าเริ่มเป็นการนับถอยหลังความอุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ไปพร้อมๆ กัน

“ASTVผู้จัดการภาคใต้” นำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์ JPG อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้จากรูปภาพ
  
 








 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น