xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายรักษ์ชุมพรฯ ชูธงเขียวคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชุมพร - ประชาชนเครือข่ายรักษ์ชุมพร เดินออกจากห้องประชุมหลังเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการท่าเรือชุมพร แต่พบว่า รายละเอียดโครงการยังมีไม่ครบถ้วน พร้อมชูธงเขียวเป็นสัญลักษณ์คัดค้านโครงการ ระบุจะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพุดพิชญา โรงแรมนานาบุรี อ.เมือง จ.ชุมพร กรมเจ้าท่า ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด เพื่อก่อสร้างท่าเรือที่ จ.ชุมพร โดยมีประชาชนเครือข่ายรักษ์ชุมพร (Save Chumphon Green & Clean) เข้าร่วมการประชุมด้วยประมาณ 50 คน
 
แผนที่ก่อสร้างท่าเรือชุมพร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาประชาชนเครือข่ายรักษ์ชุมพร (Save Chumphon Green & Clean) ได้เดินออกจากห้องประชุมหลังจากเข้าร่วมประชุมได้ไม่นาน โดยทางตัวแทนระบุว่าบริษัทที่ปรึกษาจัดเวที ค.1 ท่าเรือชุมพร โดยไม่แจ้งวัตถุประสงค์ว่าจะมาชี้แจงรายละเอียดโครงการ และพบว่าเนื้อหารายละเอียดยังไม่ครบถ้วน

“ในเวทีวันนี้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยได้พูดกันครบทุกคน แต่ทางฝั่งเครือข่ายฯ มองว่ามีการจัดเวทีโดยที่เนื้อหายังไม่ชัดเจน วันนี้เครือข่ายฯ จึงมีการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเราคิดอย่างไรต่อโครงการนี้”
 
เอกสารแนบท้ายการประชุม ที่มาของโครงการ
 
ทั้งนี้ เครือข่ายรักษ์ชุมพร (Save Chumphon Green & Clean) ได้ออกมารวมตัวกันบริเวณหน้าห้องประชุม พร้อมชูธงผืนผ้าสีเขียว ระบุข้อความว่า “เรารักษ์ทะเลชุมพร ไม่เอาท่าเทียบเรือน้ำลึกชุมพร” เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เอาท่าเทียบเรือชุมพร พร้อมระบุว่า จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ของกรมเจ้าท่าอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือจังหวัดชุมพร ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดบทบาทพื้นที่ภาคใต้ เป็นประตูการค้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยระบุว่า จะมีการก่อสร้างท่าเรือชุมพร ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาภาคใต้ โดยสำหรับท่าเรือชุมพร นั้น การศึกษาออกแบบเบื้องต้นกำหนดพื้นที่ก่อสร้างไว้ 3 ทางเลือก คือ ที่อ่าวบางสน แหลมคอกวาง และที่แหลมเขาพระตำหนัก
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น