การพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อพืชเศรษฐกิจสำคัญเช่นข้าว เป็นหลักมาโดยตลอด
ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้ผลผลิตข้าวเหลือเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ ตอบโจทย์การส่งข้าวออก นับแค่การถือกำเนิดของสนธิสัญญาเบาริ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
อันเนื่องจากชาติตะวันตกต้องการข้าวสำหรับค้าในประเทศอาณานิคม และต้องการให้เป็นการค้าเสรีมากกว่าถูกผูกขาด ที่มีข้อจำกัดด้านราคาและปริมาณ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงมุ่งขยายพื้นที่ทำนาเป็นการใหญ่ พร้อมกับการขุดคลองเพื่อเปิดพื้นที่สองฟากฝั่งเป็นที่นาใหม่ และเพื่อตอบสนองการนี้จึงทรงตั้งกรมคลอง ต้นกำเนิดของกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2445 หรือ 113 ปีก่อน
ทุ่งราบภาคกลาง เป็นเป้าหมายของการขยายพื้นนาและเพิ่มผลผลิตข้าวนับแต่นั้นมา แต่กว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ในนามการชลประทานสมัยใหม่จะเป็นจริงและขยายผลได้ก็นานทีเดียว เพราะติดขัดงบประมาณดำเนินการ
แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นด้วยกับแผนการขยายที่นา แต่จำกัดด้วยงบประมาณแผ่นดินเช่นกัน ทำได้เพียงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทยหรือเขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อผันน้ำเข้าบริเวณคลองรังสิตที่ประสบภัยแล้งมา 2 ปีติดต่อกัน
กว่าเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเก็บกักน้ำภูมิพล เขื่อนทดน้ำแม่กลอง เขื่อนเก็บกักน้ำสิริกิติ์ จะถือกำเนิดก็ล่วงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
น้ำชลประทานจึงเป็นกำลังหลักสำคัญในการขยายพื้นที่นา และเพิ่มผลผลิตในเขตชลประทานทั่วประเทศ 30 ล้านไร่ แม้จะมีพืชผลอื่นรวมอยู่ด้วย แค่นาข้าวเป็นหลักใหญ่ที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้นยังมีพื้นที่นาในเขตน้ำฝน ที่ปลูกได้เฉพาะข้าวนาปีเท่านั้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ผลผลิตข้าวในพื้นที่ชลประทานเฉลี่ยอยู่ในระดับ 80-100 ถัง แต่เมื่อถัวเฉลี่ยกับผลผลิตข้าวนาปีที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่ำที่ 30-35 ถัง ฉุดตัวเลขผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำไปด้วยที่ 47 ถัง/ไร่
พื้นที่อย่างที่ราบภาคกลางที่ได้ชื่อเป็นทุ่งรวงทองนั้น เมื่อมีน้ำชลประทานบริบูรณ์ จึงทำทั้งนาปีและนาปรัง หนักเข้าเพิ่มนาปรังเป็น 2 ครั้ง ซึ่งหมายถึงการใช้น้ำอย่างมโหฬาร เพราะนาข้าว 1 ไร่ ใช้น้ำไม่น้อยกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร/ฤดู
แหล่งน้ำสำคัญคือแหล่งน้ำชลประทาน ต้องเผชิญปัญหาความไม่ลงตัวระหว่างปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ (Supply) กับปริมาณความต้องการ (Demand)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนำมาซึ่งความผันผวนของฝน ภาวะแห้งแล้งเกิดถี่ขึ้น และยาวนานขึ้นภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างในแต่ละปีผันผวนตามไปด้วย
ใน 12 เดือน อ่างเก็บน้ำมีโอกาสรับน้ำท่าอันเกิดจากน้ำฝนเพียง 3 เดือน นับแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคมเท่านั้น ปีใดฝนดีปีนั้นน้ำเต็มอ่าง และลดน้อยถอยลงตามปริมาณฝน แต่สภาพการณ์โดยรวม ยิ่งในภาวะเอลนีโญฝนไม่ค่อยมาก น้ำในอ่างก็พลอยน้อยลง ในขณะความต้องการมากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะการทำนาปรังครั้งที่ 2 ที่เป็นส่วนเกิน
ปี 2557-2558 ไม่เพียงนาปรังครั้งที่ 3 ไม่ได้ปลูก กระทั่งนาปรังครั้งแรกยังถูกห้าม เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในภาวะวิกฤตเหลือน้อย
การตัดสินใจของรัฐบาลที่ห้ามทำนาปรังครั้งที่ 1 และ 2 นั้น แม้จะเป็นเหตุเฉพาะหน้า แต่น่าจะเป็นสัญญาณทางออกในระดับหนึ่ง
อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ
ประการแรก ห้ามทำนาปรังครั้งที่ 2 หรือในบางครั้งที่เผชิญวิกฤตน้ำต้นทุนน้อย อาจต้องห้ามครั้งแรกด้วยเหมือนกับที่ผ่านมา
ประการที่สอง มีคำตอบให้เกษตรกรด้วยว่า ห้ามทำนาแล้วให้พวกเขาทำอะไร พืชใช้น้ำน้อยที่ว่าเป็นพืชอะไร มีการดูแลเมื่อผลผลิตออกมาอย่างไร ไม่เช่นนั้นชาวนาก็ไปไม่เป็น สุดท้ายหวนกลับมาทำนาเหมือนเดิม แม้จะเสี่ยงก็ตาม
ประการที่สาม ควรกำหนดพืชอย่างอื่นที่มากกว่าข้าวได้แล้ว เพราะข้าวไม่ใช่คำตอบสำหรับพืชเศรษฐกิจไทยเหมือนเก่าอีกแล้ว ศักยภาพในการแข่งขันน้อยลงแทบทุกด้าน ท่ามกลางคู่แข่งที่เข้มแข็งขึ้น
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่า และมีต้นทุนสูง แต่ถูกกดให้ต่ำ ดังนั้นต้องหาทางใช้น้ำเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดเช่นกัน