กาฬสินธุ์ - เจ้าของสวนมะม่วงในเมืองน้ำดำเผย “มะม่วงแก้วขมิ้น” ปลูกในภาคอีสานให้ผลผลิตดี คุณภาพเทียบเท่านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ชี้เป็นช่องทางสร้างรายได้เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน ด้านเกษตรจังหวัดเตรียมส่งเสริมปลูกเพิ่มอีก
ผู้สื่อข่าวประจำ จ.กาฬสินธุ์ ไปยังไร่บริพัฒน์ ต.บึงวิชัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ สวนมะม่วงใหญ่ที่สุดของ จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่กว่า 200 ไร่ ของนายบริพัฒน์ ธัญอุดม อายุ 67 ปี โดยที่สวนแห่งนี้ได้ปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น และเพาะพันธุ์จำหน่าย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาดในขณะนี้ และถือเป็นความสำเร็จของเกษตรกรใน จ.กาฬสินธุ์ ที่สามารถปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นได้มีคุณภาพเท่าเทียมกับเจ้าของสายพันธุ์จากประเทศกัมพูชา คาดว่าผลผลิตจะรองรับความต้องการของตลาดได้ และสามารถแบ่งยอดการนำเข้าจากกัมพูชาได้
ซึ่งจากศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าแต่ละปีมีการนำเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน โดยล่าสุดปี 2558 มีการนำเข้ามะม่วงจากเดือนมกราคม ถึงเมษายนแล้วกว่า 90,835 กิโลกรัม หรือมีมูลค่ากว่า 4,000,000 บาท
นายบริพัฒน์กล่าวว่า ทำสวนมะม่วงมานานกว่า 29 ปี เดิมปลูกมะม่วงสายพันธุ์ไทย ทั้งมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงฟ้าลั่น และน้ำดอกไม้ โดยพื้นที่กว่า 200 ไร่มีต้นมะม่วงกว่า 12,000 ต้น ตามสัดส่วน 6x8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกมะม่วงได้ 60 ต้น ผลผลิตเฉลี่ย 1 ตันต่อไร่ หรือประมาณ 3 ผลต่อ 1 กิโลกรัม
ที่ผ่านมาการปลูกมะม่วงสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่มากพอสมควร ทั้งมะม่วงตามฤดูกาลและมะม่วงนอกฤดูกาล แต่ยังประสบปัญหาโรคเพลี้ยแป้ง และการดูแลรักษา ทำให้บางปีประสบปัญหาขาดทุน จนกระทั่ง 3 ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเดินตลาด และพบว่ามีมะม่วงแก้วขมิ้นมาวางจำหน่ายในตลาดหลายแห่งทั่วประเทศ อย่างที่ตลาดไท มะม่วงแก้วขมิ้นเป็นที่ต้องการของแม่ค้ามากเพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
นอกจากนี้ เรื่องรสชาติยังอร่อย เนื้อละเอียด หวานอมเปรี้ยว เนื้อมะม่วงดิบจนถึงแก่จัดจะมีสีเหลืองจนเหลืองจัด นิยมรับประทานผลดิบถึงแก่จัดมากกว่ารับประทานแบบผลสุก ทุกร้านต้องวางจำหน่ายมะม่วงสายพันธุ์นี้ และมีประชาชนมาเลือกซื้อจำนวนมาก ถือว่าเป็นที่ยอมรับ สอบถามที่ไปที่มาพบว่ามีการนำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศกัมพูชา
ทั้งยังพบอีกว่าตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาตลาดมะม่วงแก้วขมิ้นเติบโตเร็วมาก ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้กับมะม่วงสายพันธุ์ไหน จึงเริ่มหาสายพันธุ์เพื่อทำการทดลองปลูกเป็นจุดเริ่มต้นของมะม่วงแก้วขมิ้นที่ จ.กาฬสินธุ์ รับประกันคุณภาพได้ว่าเทียบเท่ากับต้นฉบับเดิมแบบไม่ผิดเพี้ยน พร้อมกับการขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นมากขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะสามารถสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจตัวนี้ได้เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย
นายบริพัฒน์เล่าว่า กิ่งพันธุ์ชุดแรกกว่า 200 ต้นมาจากเพื่อนสนิทที่หาสายพันธุ์แท้มาให้ จึงเริ่มทดลองปลูกในเนื้อที่ 3 ไร่ โดยใช้สูตรการปลูกมะม่วงเช่นเดียวกับที่สวน เมื่อผ่านมา 2 ปีแรกมะม่วงแก้วขมิ้นเริ่มให้ผลผลิตลักษณะผลแตกต่างจากมะม่วงที่ปลูกดั้งเดิม ผลมีขนาดใหญ่มีทั้ง 2-3 ลูกต่อกิโลกรัมเมื่อแก่จัด หรือมีอายุราว 4 เดือน ต้นเล็กสูงโปร่ง แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรค ลักษณะการออกผลเป็นพวง
ที่สำคัญทนแล้งได้ดี ไม่ต้องจุกจิกเรื่องปุ๋ยและกระบวนการนอกฤดู เพราะมะม่วงสายพันธุ์นี้ให้ผลดกและออกผลตลอดทั้งปี เริ่มแรกลองเอามาชิมรสชาติซึ่งคุณภาพกลิ่น รสชาติ ขนาดผล และเนื้อมะม่วงไม่ต่างกัน จึงเริ่มวางจำหน่ายที่แผงขายผลไม้ของทางสวน ที่ประชาชนทั่วไปก็จะถามว่ามะม่วงพันธุ์ไหนรสชาติอร่อย จากนั้นก็เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าใน จ.กาฬสินธุ์มาติดต่อขอซื้อที่ไร่เอง ซึ่งทางไร่จะจำหน่ายในราคาขายส่งกิโลกรัมละ 20 บาท
นอกจากนี้ ผลผลิตคิดคำนวณต่อต้นประมาณ 15-20 กิโลกรัม เมื่อเทียบกันกับมะม่วงสายพันธุ์ที่ปลูกอยู่แตกต่างกันมาก ขณะที่ราคาซื้อขายก็ยังสูงแม้อยู่ในช่วงฤดูกาลยังจำหน่ายในราคาส่งกิโลกรัมละ 20 บาท ปีนี้เป็นปีที่ 3 ผลผลิตยังเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้มะม่วงล็อตแรกออกสู่ตลาดหมดแล้ว แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“ตอนนี้ทางไร่กำลังเดินหน้าขยายพื้นที่ปลูกอีก 200 ไร่ เพื่อรองรับการเติบโตทางการค้าระดับอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้”
ด้านนายสำนัก กายาผาด เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตลาดมะม่วงแก้วขมิ้นยังเป็นช่วงขาขึ้น อนาคตได้มีการวางแผนที่จะขยายพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ปลูกกันเพื่อสร้างรายได้ในช่วงขาขึ้น นอกจากนี้ หลายประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการสั่งนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นจำนวนมาก ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตมะม่วงแก้วขมิ้นจากไทยอาจจะมีความแข็งแกร่ง และแบ่งตลาดการค้ามะม่วงแก้วขมิ้นของกัมพูชาได้
นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ให้ทำการวิจัยคุณค่าและสารอาหารของมะม่วงสายพันธุ์นี้ รวมถึงเตรียมแปรรูปด้วย