xs
xsm
sm
md
lg

ท้าพิสูจน์ “กาแฟออแกนิกดอยแม่ส้านศาลเจ้าพ่อประตูผา” ผลผลิตชุมชนที่ทำจนไม่พอขาย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - เลาะศาลเจ้าพ่อประตูผา หรือพญาข้อมือเหล็ก พิสูจน์ “กาแฟดอยแม่ส้าน” กาแฟออแกนิกพันธุ์พระราชทานตามโครงการ “กาแฟกำแรก” ที่ผลิตได้ไม่พอขาย

วันนี้ (12 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลเจ้าพ่อประตูผา หรือพญาข้อมือเหล็ก บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง ในการดูแลของค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา แต่ละวันนอกจากจะมีชาวลำปาง ต่างจังหวัดแวะเวียนไปกราบสักการะเจ้าพ่อประตูผากันเป็นจำนวนมาก และต่อเนื่องแล้ว ยังมีตลาดชุมชน หรือกาดของชาวบ้าน ทั้งชาวไทย ชนเผ่า นำพืช ผัก สมุนไพรของป่า และสินค้าชุมชนมาวางจำหน่ายด้วย



ล่าสุดขณะนี้ศาลเจ้าพ่อประตูผา หรือพญาข้อมือเหล็ก ยังถูกคอกาแฟกล่าวถึงด้วยว่า เป็นแหล่งให้ลิ้มชิมรส “กาแฟสดแม่ส้าน” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง “กาแฟออแกนิก” ที่ปลูกในป่าชุมชนของหมู่บ้านไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ และสุขภาพ ซึ่งมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

นางสาวอนงค์ศรี ทรายแก่น หรือครูหมู ซึ่งเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ในกาดประตูผา เปิดเผยว่า กาแฟดอยแม่ส้านเริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 2512 โดยผู้นำหมู่บ้านได้รับพันธุ์พระราชทานจากโครงการ “กาแฟกำแรก” ที่มอบพันธุ์ให้ชาวบ้านบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นก็ได้นำมาทดลองปลูกเรื่อยมา โดยปลูกแบบธรรมชาติ หรือแบบออแกนิก ไม่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง เป็นการปลูกแซมกับต้นไม้อื่นๆ ในป่าชุมชน และบริเวณพื้นที่ว่างในบ้านแต่ละคน เพื่อเสริมรายได้ให้ครอบครัวจากพืชเศรษฐกิจที่ทำอยู่คือ ข้าว มะแหลบ มะแขว่น ซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องเทศ

ซึ่งกาแฟที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์อะราบิกา ส่วนโรบัสตา มีประมาณ 10% และด้วยที่ไม่ได้เน้นเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ชาวบ้านที่ปลูกจึงทำเท่าที่ทำได้ มากสุดจะปลูกในป่าชุมชนไม่เกิน 4 ไร่ เพราะดูแลง่าย ทำให้ผลผลิตที่ออกมาจึงมีจำนวนไม่มากนัก ในแต่ละปีมีไม่เกิน 10 ตัน หรือน้อยกว่านั้น

ครูหมูบอกว่า จุดเด่นของกาแฟดอยแม่ส้านคือรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากดอยแม่ส้านเป็นดินภูเขา จะมีลักษณะดินผสมหิน ดังนั้นรสชาติของกาแฟที่ออกมาจะมี Aroma สูง ผู้ที่ดื่มกาแฟจะสัมผัสได้จากการดื่มครั้งแรก คือ เมื่อดื่มเข้าไปในปากบริเวณโคนลิ้นจะรู้สึกถึงกลิ่น และกรุ่นตลอดจนหมด กระบวนการปลูกจะไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้สารเร่ง ปลูกแบบออแกนิก ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้าง จึงทำให้กาแฟดอยแม่ส้านเป็นที่ต้องการของผู้ที่ชอบดื่มกาแฟและรักสุขภาพ

แต่เนื่องจากการปลูกของชาวบ้านเน้นปลูกบริโภคไม่เน้นขาย เมื่อเหลือจึงนำมาขาย ทำให้ปริมาณมีน้อย ซึ่งจะมีทั้งบริษัทใหญ่ที่ผลิตกาแฟรับซื้อผลผลิตเกือบทั้งหมด เหลือที่ชาวบ้านทำจำหน่ายเองเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น โดยผลสดของกาแฟอะราบิกาจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 5-6 บาท แบบเมล็ดแห้งกิโลกรัมละ 12-19 บาท ส่วนพันธุ์โรบัสตาจะมีราคาสูงกว่าประมาณ 10-15% เนื่องจากปลูกในสัดส่วนที่น้อยกว่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมเฉพาะจำหน่ายกาแฟประมาณปีละกว่า 20,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นและไม่พอต่อความต้องการ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังคงยืนยันจะไม่เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นตามความต้องการของตลาด แต่จะยังคงความเป็นเอกลักษณ์ รสชาติ คุณภาพ และสุขภาพ

ปัจจุบันมีเพียง “ครูหมู” เท่านั้นที่นำผลผลิตภัณฑ์กาแฟดอยแม่ส้านมาจำหน่ายเพื่อบริการลูกค้า ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว และต้องการลิ้มลองกาแฟดอยแม่ส้าน ณ กาดประตูผา แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาและตั้งใจจะมีดื่มกาแฟโดยตรงแวะมาใช้บริการไม่ขาดสาย โดยจำหน่ายแก้วละ 40 บาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับกาแฟจำหน่ายด้วย

เช่น กาแฟคั่วกลาง คั่วเข้ม จำหน่ายสองขนาด คือ ราคา 150 บาท (250 กรัม) และ 300 บาท (ครึ่งกิโลกรัม) กากกาแฟ สำหรับนำไปใช้ดับกลิ่น และใช้ในสปา จำหน่ายแพกละ 50 บาท ลูกอมกาแฟ ถุงละ 50 บาท และ 100 บาท และต้นกล้ากาแฟทั้งอะราบิกา โรบัสตา จำหน่ายต้นละ 25 บาท

ส่วนปัญหาที่ชาวบ้านซึ่งปลูกกาแฟดอยแม่ส้านอยากให้หน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูก และดูแลให้ผลผลิตมีคุณภาพ เนื่องจากการปลูกแบบออแกนิกจะปลูกยากเพราะไม่ได้ใช้สารเคมี ดังนั้นเมื่อมีแมลง หรือเชื้อโรคที่มาทำลายต้นกาแฟทำให้ผลผลิตเสียหาย รวมถึงอยากให้หน่วยงานเข้ามาให้ความรู้ด้านการตลาดการเลือกพันธุ์ที่ปลูก เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาจำนวนน้อยแต่ได้ราคาสูง









กำลังโหลดความคิดเห็น