ตรัง - จังหวัดตรัง จัดพิธีบวงสรวง วางพวงมาลา และสักการะดวงวิญญาณ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เนื่องในวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558 ท่ามกลางราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างหนัก และเกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าฯ ตรัง พร้อมด้วย นายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า และประชาชนจำนวนมากได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวง วางพวงมาลา และสักการะดวงวิญญาณ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย ณ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ในเขตเทศบาลนครตรัง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ และวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ระหว่างปี พ.ศ.2433-2445 เป็นเวลา 12 ปีนั้น ได้บำเพ็ญประโยชน์ และสร้างคุณงามความดีให้เป็นที่ปรากฏแก่ประชาชนเป็นอเนกประการ จนได้รับสมญานามว่า เจ้าเมืองแห่งการพัฒนา นอกจากนั้น ยังได้วางรากฐานความเจริญก้าวหน้าให้จังหวัดตรังในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ โดยนำยางพาราเข้ามาปลูกในจังหวัดตรัง เป็นครั้งแรกที่อำเภอกันตัง และปัจจุบัน ยางพาราได้กลายเป็นอาชีพหลักของชาวตรัง ก่อนขยายการเพาะปลูกไปยังจังหวัดต่างๆ จนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
นายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวว่า นับตั้งแต่ 100 ปีที่ผ่านมา ที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้นำยางพารามาปลูกที่จังหวัดตรัง จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่วันนี้ราคายางพาราก็ยังคงผันผวน ส่วนเกษตรกรก็ยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งสวนใหญ่ประกอบอาชีพสวนยางพารา หากยางพารามีราคาตกก็หมายถึงเศรษฐกิจภาพรวมทั้งหมดจะตกไปด้วย ดังนั้น สิ่งที่ตนอยากจะเสนอรัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ควรจะมีการสร้างผลิตภัณฑ์ยางพาราภายในประเทศเพื่อส่งออกด้วย ไม่ใช่ส่งออกเฉพาะยางแผ่นดิบเท่านั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ตรงจุด และมีผลประโยชน์แอบแฝงของกลุ่มพ่อค้านายทุน รวมทั้งต้องจริงจังจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ด้านนายชำ นุชิตศิริภัทรา นายกสมาคมชาวสวนยางพาราจังหวัดตรังกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลยังช่วยเหลือชาวสวนยางพาราไม่ถูกต้องตรงจุด และต้องมีการส่งเสริมให้มีการแปรรูปยางพาราให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการเพิ่มการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เกษตรชาวสวนยางพาราเองต้องมีการปรับตัว และอย่าใช้ชีวิตอย่างประมาท ตลอดจนดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อต่อสู้กับภาวะวิกฤตด้านราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างมากในขณะนี้