xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เปิดสัมปทาน 30 ปีเอกชนลงทุน 100% โมโนเรลสีเหลือง-ชมพูลดความเสี่ยงภาครัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เห็นชอบปรับรูปแบบลงทุนรถไฟฟ้าสีชมพูและสีเหลือง ให้สัมปทานเอกชนลงทุน 100% หรือ PPP Net Cost เหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อลดความเสี่ยงและการลงทุนของภาครัฐ ชี้เหมาะสมกับระบบโมโนเรล เร่งชงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. ส่วนเดินรถสีน้ำเงินคาดกลาง มิ.ย.บอร์ดสภาพัฒน์จะพิจารณา พร้อมเร่งประสาน กทม. และตำรวจจราจรวางแผนก่อสร้างสีเขียวเหนือ ช่วงรื้อสะพานรัชโยธินและเกษตร เริ่ม ก.ย.นี้

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. ค่าก่อสร้างงานโยธา 31,261 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กม. ค่าก่อสร้างงานโยธา 31,675 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยให้สัมปทานเอกชน ซึ่งเอกชนจะต้องรับภาระลงทุน 100% (ทั้งค่าก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง) โดยให้ รฟม.ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะสมกับระบบรถโมโนเรลโดยมีข้อดีคือ รัฐรับภาระความเสี่ยงน้อยที่สุด รับภาระการลงทุนน้อยระยะเวลาก่อสร้างสั้นลง 6-12 เดือน มีข้อดีในการบริหารจัดการในระระยาว โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงในการลงทุนแทนรัฐ โดย รฟม.จะสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หลักการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าทั่วไปในระบบเฮฟวีเรล เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมมหานครนั้นจะประมูล 3 สัญญา คือ สัญญาก่อสร้างงานโยธาและราง สัญญาจัดหาระบบรถ และสัญญาผู้เดินรถ โดยทยอยประมูลทีละสัญญา แต่ระบบโมโนเรลนั้นจำเป็นต้องคัดเลือกระบบรถก่อนว่าเป็นโมโนเรลแบบใดเนื่องจากแต่ละระบบมีศักยภาพในการขนผู้โดยสารแตกต่างกัน ดังนั้น รฟม.จึงทบทวนโดยปรับเป็นการประมูลรวมเป็นแพกเกจทั้งงานก่อสร้างราง จัดหาระบบรถและบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงพร้อมกัน โดยจะกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติ เทคนิคเป็นกรอบกว้างๆ ไว้ในเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น กำหนดความต้องการในการขนผู้โดยสารประมาณ 35,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง การให้บริการ การซ่อมบำรุง และคัดเลือกรายที่มีข้อเสนอดีที่สุด คือ มีมูลค่าลงทุนต่ำที่สุด หรือกรณีที่ต้องให้รัฐสนับสนุนจะต้องน้อยที่สุดจึงจะเป็นผู้ชนะ โดยคาดว่าอายุสัมปทานที่เหมาะสมที่ประมาณ 30 ปี

“รูปแบบจะเหมือนโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เอกชนลงทุนก่อสร้างทั้งหมดและรับสัมปทานเดินรถรับความเสี่ยงแทนภาครัฐ ซึ่ง รฟม.ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแต่ละวิธีอย่างรอบคอบ พบว่า การให้เอกชนลงทุน 100% สะดวกที่สุด สำหรับระบบโมโนเรล โดยวงเงินลงทุนรวมทั้งโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 5.4-5.5 หมื่นล้านบาท รัฐจะรับภาระค่าเวนคืน และข้อเสนอที่เอกชนขอให้อุดหนุนเท่านั้น และรัฐจะกำหนดค่าโดยสารที่เหมาะสมได้เอง ซึ่งจะเปิดประมูลแบบสากล เอกชนจอยต์เวนเจอร์กันเข้ามา โดยปัจจุบันเทคโนโลยีโมโนเรลมีหลายประเทศ เช่น ฉงชิ่ง ของจีน, ฮิตาชิของญี่ปุ่น, บอมบาร์ดิเอร์ ฝรั่งเศส, สโคมิของมาเลเซีย”

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)ขณะนี้กำลังประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจจราจรเพื่อจัดทำแผนก่อสร้างเพื่อให้กระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด โดยมีกำหนดรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินเดือน ก.ย. และสะพานข้ามแยกเกษตรเดือน พ.ย.นี้ และใช้เวลาก่อสร้างรวมประมาณ 2 ปีในช่วงดังกล่าว

ส่วนการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ คาดว่าคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) จะประชุมกลางเดือน มิ.ย.นี้ หากบอร์ดสภาพัฒน์ฯ และคลังเห็นชอบตามที่คณะกรรมการมาตรา 13 พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ให้เจรจาตรงกับบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL จะเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ บอร์ดยังให้ รฟม.ศึกษาแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าใน 5 เมืองใหญ่เพื่อแก้ปัญหาจราจร คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา หาดใหญ่ ภูเก็ต และชลบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น