xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงลุ้น รฟม.ชี้ยังไม่แน่ รื้อไม่รื้อสะพานแยกรัชโยธินสร้างสายสีเขียวต้องรอ กทม.อนุมัติแบบก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รฟม.เร่ง กทม.ยืนยันแบบก่อสร้างสายสีเขียวเหนือบริเวณแยกรัชโยธิน ว่าจะเลือกรูปแบบเดิมคือรื้อสะพานข้ามแยกหรือแบบที่ 2 ไม่รื้อสะพาน พร้อมยืนยันรถไฟฟ้าทุกโครงการเดินหน้าตามแผน มั่นใจปรับ ครม.ไม่กระทบโครงการ ยันผลักดันตามแผนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อให้พิจารณาแบบก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ทางเลือก เพื่อขอให้ยืนยันรูปแบบก่อสร้างที่ กทม.เห็นชอบ ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างเดิมที่ รฟม.ได้มีการออกแบบและทำสัญญาไว้กับผู้รับเหมา โดยจะรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และก่อสร้างทางลอด (Underpass) ทดแทน รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามแยกในแนวถนนพหลโยธิน ใต้รถไฟฟ้า ซึ่งแนวทางนี้จะมี 4 ชั้น คือ แนวรัชดาฯ มีชั้นอุโมงค์ แนวพหลโยธิน มีถนนเดิมมีสะพานข้ามแยกใต้รถไฟฟ้าและมีรถไฟฟ้า ข้อเสียคือจะมีปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างก่อสร้าง แต่ข้อดีจะสามารถแก้ปัญหาจราจรระยะยาวได้สมบูรณ์แบบ

ทางเลือกที่ 2 ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่เพื่อแก้ปัญหาเพราะไม่มีการทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับขึ้นไปจากเดิมที่ความสูง 18 เมตร (ระดับเดิม 16 เมตรขยับขึ้นอีก 2 เมตร) และจะมีสะพานข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธินขนาดไปกลับข้างละ 1 ช่องจราจร โดยใช้โครงสร้างเดียวกับรถไฟฟ้า ส่วนแนวทางที่ 3 และ 4 คาดว่าจะไม่มีการพิจารณาเพราะมีข้อด้อยมาก

“รฟม.เห็นว่ารูปแบบเดิมเหมาะสม โดยเฉพาะทางวิศวกรรมถือว่าดีที่สุด และจะมีผลกระทบต่อจราจรหนักๆ ประมาณ 6 เดือนแรกหลังจากนั้นจะคลี่คลายขึ้น แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านเพราะกังวลว่าหากมีการทุบสะพานแยกรัชโยธินซึ่งเป็นแยกใหญ่แล้วจะเกิดผลกระทบมีปัญหาจราจรมาก จึงได้เกิดแนวทางเลือกรูปแบบที่ 2 ขึ้นมา ซึ่งในทางเทคนิค รูปแบบเดิมการทุบสะพานข้ามแยก กทม.เคยทำมาหลายจุด ซึ่งมีการดำเนินการผ่านไปด้วยดี ส่วนแยกรัชโยธิน รฟม.ได้ประสานกับผู้รับเหมาและตำรวจจราจรเพื่อทำการจัดจราจรเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่ง รฟม.มีประสบการณ์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนจรัญสนิทวงศ์และเพชรเกษมหรือหน้าวัดมังกรที่มีความกังวลเรื่องจราจรมาแล้ว” นายพีระยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทาง รฟม.ต้องการให้ กทม.ยืนยันกลับมาเร็วที่สุดว่าจะเลือกรูปแบบใด แต่ในภาพรวมยังพอมีเวลาในการตัดสินใจประมาณ 2 เดือนนับจากที่ รฟม.ได้ส่งหนังสือไป ดังนั้น ต้องถือว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าบริเวณแยกรัชโยธินนั้นจะมีการทุบสะพานข้ามแยกหรือไม่ โดยในระหว่างนี้ผู้รับเหมาได้เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วเพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภค

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.นั้น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อนั้น ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาเสร็จ 100% แล้ว โดยอยู่ระหว่างตรวจรับมอบงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (สัญญาที่ 3) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ และบางซื่อ-บางแค การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าประมาณ 65% โดยจะทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2561-2562 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ การก่อสร้างคืบหน้า 61% คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2559-ต้นปี 2560

ส่วนการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น ภายหลังจากที่คณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตรงกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ดังนั้น ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน ได้พิจารณาและยืนยันเรื่องการเดินรถต่อเนื่อง และแนวทางที่เป็นไปได้ในการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะรับความเสี่ยงแทนภาครัฐ โดยจะเสนอรูปแบบและแนวทางดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมและ ครม.ต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นว่า เมื่อสภาพัฒน์มีความเห็นดังกล่าวเท่ากับว่าเรื่องการดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 คงเดินต่อไปไม่ได้

นายพีระยุทธกล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และสายสีม่วงใต้ เส้นทางเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดว่าจะประกวดราคาได้ปลายปี 2558-ต้นปี 2559 ส่วนสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเปิดประมูลได้กลางปี-ปลายปี 2559 ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้า 4 สายที่อยู่ในแผนการลงทุน และแม้จะมีการปรับ ครม. และเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่เชื่อว่าโครงการจะได้รับการผลักดันต่อ เพราะจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น